ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม, เครื่องจักร, และยานยนต์ต่างๆ ในช่วงยุคสมัยของสงครามเย็นก็เช่นกัน คุณภาพของสิ่งของเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะดึงดูดสายตาผู้บริโภคจากเหล่าประเทศเสรีแต่รวมไปถึงประเทศหลังม่านเหล็กอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากเยอรมนีตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมากซึ่งรวมไปถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อีกด้วย และไม่ได้มีเพียงจุดประสงค์ที่จะนำไปทดสอบเท่านั้นแต่ยังถูกนำเข้าเพื่อแจกจ่ายให้แก่หน่วยทหารเพื่อนำไปใช้งานจริงอีกด้วย

ตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 1960 รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศคอมมิวนิสต์ที่นำเข้ารถจากเยอรมนีตะวันตกเป็นจำนวนมาก อาทิ BMW, Mercedes-Benz และ Porsche สำหรับหน่วยงานตำรวจในประเทศตน

 

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภายหลังความล้มเหลวในการยับยั้งเหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาชาวอิสราเอลโดยกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในมิวนิค ปี 1972 เป็นเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกได้ตัดสินใจก่อตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นมา 2 หน่วย นามว่า “GSG-9” และ “SEK” ด้วยภัยคุกคามแบบใหม่ใกล้รั้วบ้าน รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกที่เกรงกลัวว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับตนได้ด้วยเช่นกัน จึงได้ตัดสินใจที่จะสร้างหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของตนขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยความไร้ประสบการณ์ในเรื่องของการปฏิบัติการทางทหารนอกแบบทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อตั้งหน่วยใหม่นี้ต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ทั้งหมดโดยอาศัยรายงานและองค์ความรู้ที่รวบรวมมาจากทั้งฝั่งของโลกเสรีและฝั่งโซเวียต

เหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาชาวอิสราเอลในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในมิวนิค ปี 1972

 

จนกระทั่งในปี 1973 เยอรมนีตะวันออกได้ให้กำเนิดหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายหน่วยแรกของตนขึ้นมาโดยมีนามว่า “Diensteinheit IX” หรือ “หน่วยปฏิบัติการที่ 9” แต่ความน่าสนใจของหน่วยดังกล่าวจะอยู่ที่การจัดหายุทโธปกรณ์ของหน่วยซึ่งอาวุธประจำการในช่วงก่อตั้งนั้นส่วนมากก็จะเป็นอาวุธที่ผลิตในประเทศตนเองอย่างปืน AK เวอร์ชั่นเยอรมนีตะวันออกและปืนซุ่มยิงแบบ SSG-82 หรือนำเข้าจากประเทศสังคมนิยมใกล้เคียงอาทิ เช่น ปืนกลมือแบบ vz. 61 Škorpion จากสาธารณรัฐสังคมนิยม เชโกสโลวัก (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) และ ปืนกลมือ PM-63 จากสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (โปแลนด์ในปัจจุบัน) ซึ่งนอกจากปืนเหล่านี้แล้วก็ยังมีอาวุธที่เยอรมนีตะวันออกนำเข้าจากประเทศเสรีเพื่อนำเข้ามาให้กำลังพลหน่วยนี้ใช้โดยเฉพาะอีกด้วย เหตุผลของการนำปืนจากฝั่งโลกเสรีนั้นยังไม่สามารถตัดสินได้แต่เชื่อกันว่าปัจจัยใหญ่ๆนั้นมาจาก คุณภาพและขีดความสามารถของปืนฝั่งตนเองที่ไม่ทัดเทียมเท่าปืนจากฝั่งโลกเสรีโดยเฉพาะปืนจาก บริษัท Heckler & Koch ประเทศเยอรมนีตะวันตกที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ณ เวลานั้นจวบจนถึงยุคปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่หน่วย Diensteinheit IX

 

 ถึงแม้โลก ณ ตอนนั้นจะอยู่ในช่วงของยุคสงครามเย็นและมีการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะในเรื่องของการนำเข้าและส่งออกอาวุธ แต่ก็ยังมีการค้าขายในทางลับระหว่างโลกเสรีและโลกหลังม่านเหล็กกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ, เครื่องกระสุน, และยุทธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งหมดนี้ถูกดำเนินการผ่านบริษัท IMES GmbH บริษัทที่ดำเนินกิจการโดยกระทรวงการค้าต่างประเทศของเยอรมนีตะวันออก โดยบริษัทนี้มีหน้าที่ในการหาเงินกลับเข้าประเทศผ่านการค้าขายอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ โดยที่บริษัท IMES GmbH นั้นได้สร้างเครือข่ายกับนายหน้าค้าอาวุธและตัวแทนจากบริษัทต่างๆในฝั่งตะวันตก การจัดหาอาวุธในแต่ละครั้งนั้นมีความซับซ้อนและเป็นความลับมาก นายหน้าค้าอาวุธมักจะทำการซื้อขายกับสาขาต่างประเทศแทนที่จะซื้อจากสาขาประเทศแม่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสอบสวนหรือการถูกไล่ล่าติดตามตัวหากถูกเปิดโปง

เจ้าหน้าที่หน่วย Diensteinheit IX กับปืน HK33SG/1

 

อย่างเช่นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ทางการเยอรมันตะวันออกต้องการที่จะจัดหาปืน HK33SG/1 (HK33 ที่มีกล้องเล็งกำลังขยายขนาด 1.5-6x36 ของ Zeiss Diavari ติดตั้งมาจากโรงงาน) ผู้จัดการของบริษัท IMES GmbH จึงได้ติดต่อไปยังนายหน้าค้าอาวุธ (ที่มีใบอนุญาติถูกต้อง) ในฝั่งตะวันตกที่ทำงานให้กับบริษัทค้าอาวุธสัญชาติเบลเยี่ยมแห่งหนึ่งซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้เป็นคู่ค้ากับบริษัท Heckler & Koch (HK/เอชเค) สาขาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรฯ ซึ่งนอกจากการจัดหานั้นก็ยังมีขั้นตอนการปกปิดผู้ซื้อและการขนส่งอยู่เช่น การออกใบลงนามผู้ซื้อจะลงนามเป็นหน่วยงานตำรวจของประเทศโคลัมเบียซึ่งในวันส่งมอบอาวุธนั้นก็ต้องตรงกับช่วงเวลาที่เรือของบริษัทค้าอาวุธเบลเยี่ยมมีกำหนดการแล่นไปที่ประเทศโคลัมเบียด้วยเช่นกันแต่อาวุธนั้นยังอยู่ในเยอรมนีตะวันตกและทยอยลักลอบขนส่งเข้าไปยังฝั่งเยอรมนีตะวันออกต่อไป ซึ่งการนำอาวุธเหล่านี้เข้าไปในเยอรมนีตะวันออกก็จะมีวิธีการต่างๆ เช่นการใส่อาวุธทั้งหมดไว้ในรถบรรทุกน้ำที่ถูกสั่งซื้อโดยหน่วยสืบราชการลับ Stasi (สตาซี่) จากเยอรมนีตะวันตกและนำเข้ามาในฝั่งตะวันออกจากนั้นจึงค่อยนำอาวุธออกมา เป็นต้น

เจ้าหน้าที่หน่วย Diensteinheit IX กับปืน HK33SG/1 ในเครื่องแบบลายพราง Strichtarn

 

ลักษณะการจัดหาดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะอาวุธเพียงเท่านั้นแต่รวมไปถึงยุทธภัณฑ์อื่นๆอีกด้วยเช่น กล้องตรวจการณ์กลางคืน บุคคล BM 8028 ของ Philips เป็นต้น และนอกจากหน่วย Diensteinheit IX แล้วก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆที่นำเข้าอาวุธจากเยอรมันตะวันตกเข้ามาใช้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หน่วยสืบราชการลับ Stasi และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้ทำการจัดหา “กระเป๋า” สั่งทำพิเศษที่มีปืนกลมือ HK MP5KA1 ติดตั้งอยู่ในกระเป๋าและมีไกปืนติดตั้งอยู่ที่หูจับโดยทั้งสองหน่วยงานได้จัดหากระเป๋าดังกล่าวร่วม 50 ใบ ภายหลังการรวมประเทศของทั้ง 2 เรื่องราวของการใช้ปืนจากฝั่งโลกเสรีโดยประเทศคอมมิวนิสต์ก็เป็นอันยุติลง เหตุผลอันเนื่องมาจากยุบหน่วยงานต่างๆของทางฝั่งเยอรมนีตะวันออกไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล, ตำรวจหรือกองทัพ เยอรมนีกลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเต็มตัว การลักลอบขนอาวุธดังกล่าวจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

อ้างอิง: นิตยสาร DER SPIEGEL ฉบับที่ 40 วันที่ 28 เดือนกันยายน ปี ค.ศ.1992

 

Leave a comment

All comments are moderated before being published