80 ปี ไทยรบญี่ปุ่น สายฝน โคลนเลน และ ดินปืน Valor Tactical

80 ปี ไทยรบญี่ปุ่น สายฝน โคลนเลน และ ดินปืน


            ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ 2484 ทั่วทุกภาคของประเทศไทยในตอนนั้นอบอวลไปด้วยบรรยากาศการเตรียมงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม  ท่ามกลางกระแสของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้กับพื้นที่ประเทศไทยทุกขณะ  สถานการณ์ทั่วไปในช่วงเย็นวันที่ 7 ธันวาคม 2484  หน่วยงานราชการ เอกชน ยังคงดำเนินไปโดยปกติ มีการซักซ้อม พิธีการ ซ้อมการเดินขบวนและการแสดงต่างๆ  ไม่ได้มีใครวิตกกังวลหรือคิดถึงสงครามแต่อย่างได้  ไม่มีใครคิดว่ามหามิตรที่มีข้อตกลงไม่รุกรานกันจะคิดไม่ซื่อ 

 

แผนที่แสดงกำลังทหารญี่ปุ้นบุกเข้าสู่ประเทศไทย

 

 

           จริงๆแล้วการยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยนั้นอยู่ในแผนการของญี่ปุ่นตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ เนื่องจากหากญี่ปุ่นต้องการจะยึด มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า แล้วละก็ การเดินทัพผ่านประเทศไทยทางบกนั้นง่ายกว่าการเข้าตีจากทางทะเลแน่นอน  กองทัพญี่ปุ่นวางแผนและจัดกำลังสำหรับรุกออกนอกประเทศในช่วงปี 2484 - 2485 ไว้ดังนี้ครับ 

  1. สี่กองพลของกองทัพที่ 25 จากจีนใต้และอินโดจีน ยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งภาคใต้ประเทศไทย  ไล่ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร สุราษฏธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานีและโกตาบารู กำลังส่วนนี้จะทำหน้าที่เข้าตีมาเลเซียและสิงคโปร์  
  2. สองกองพลจากกองทัพที่ 15 ในอินโดจีน(เข้ามาทางอรัญประเทศ) จะทำหน้าที่เข้ายึดประเทศไทย แล้วเดินทัพผ่านไปตีพม่า
  3. หนึ่งกองพลจากกองทัพที่ 23 ยึดฮ่องกง 
  4. สองกองพลจากกองทัพที่ 24 จากเกาะฟอร์โมซาและเกาะบาลาอู เข้าตีฟิลิปปินส์ 
  5. กำลังส่วนย่อยของจักพรรดินาวี ยึดเกาะกวม เกาะเวค และเกาะมากิ้น 
  6. กองเรือบรรทุกเครื่องบินแห่งจักรพรรดินาวีเข้าตีฐานฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์และเกาะโออาฮูของสหรัฐอเมริกาที่ฮาวาย 
  7. สองกองพลบิน กองทัพบก จัดเตรียมเครื่องบินพร้อมรบราว 700 เครื่องสนับสนุนปฏิบัติการ 1-4 
  8. จักรพรรดินาวีนอกจากจะเข้าปฏิบัติการตรงในข้อ 5 และ 6 แล้วยังจัดกองเรือรบและเครื่องบินเข้าสนับสนุนทางยุทธการในข้อ 1-4 ด้วย (เครื่องบินราว 550 เครื่อง เรือรบแบบต่างๆ 90 ลำ )

       จากข้อมูลจะเห็นว่าญี่ปุ่นจัดกำลังเข้าตีประเทศไทยถึง 6 กองพล งานนี้ถือว่าไทยเราแบกน้ำหนักขึ้นชกมากพอตัวเลยเดียว แต่ต้องบอกก่อนครับว่าจริงๆแล้วที่ญี่ปุ่นส่งกำลังเข้ามาขนาดเป้าหมายคือเข้าตี พม่า สิงคโปรค์ และ มาเลเซียครับ ไม่ได้มีประเทศไทศเป็นเป้าหมายหลักซะทีเดียว(แต่ถ้าไทยไม่ยอมให้เดินทัพผ่านดีๆก็อีกเรื่อง)  ตอนนี้ญี่ปุ่นพร้อมเต็มที่แล้วที่จะเปิดศีก

 

 

 

6 ธันวาคม 2484 

เครื่องบินตรวจการณ์พิสัยไกลของกองทัพอากาศออสเตรเลีย ตรวจพบกองเรือรบขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นนอกปหลมญวน ประกอบด้วยเรือลำเลียง เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวนและเรือพิฆาต กองเรือนี้ออกจาก ท่าเรือไฮฟองและท่าเรือคัมราห์ม ถือเข้มลงใต้ 


7 ธันวาคม 2484 

เรือดำน้ำและเรือ ตอร์ตอปิโด ของราชนาวีไทย ตรวจพบกองเรือญี่ปุ่นจากระยะไกล แต่ไม่มีการเข้าปะทะ เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยเหนือให้หลีกเลี่ยงการปะทะ 


เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพบกและกองทัพเรือญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีอย่างรุนแรงพร้อมกันกันทั่วทุกจุด ทั่วภาคพื้นเอเซียแปซิฟิกและเอเซียอาคเนย์ ไล่ตั้งแต่ เพิร์ลฮาเบอร์  ฟิลิปปินส์  ฮ่องกง ชวา บอร์เนียว และประเทศไทย 



7 ธ.ค 2484 เวลา 22.30 น. กรุงเทพมหานคร  ประเทศไทย  ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการยกพลขึ้นบก 

เทจิ ทสุโบกามิ อัครราชฑูตญี่ปุ่นขอเข้าพบนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งเรื่องกองทัพญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านประเทศไทย แต่ในเวลานั้นทางรัฐบาลไทยไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ และไม่สามารถติดต่อได้ด้วย แต่ทางญี่ปุ่นไม่ต้องการรอ ทสุโบกามิ อัครราชฑูตญี่ปุ่นจึงยื่นคำขาดกับรัฐบาลไทยว่าถ้าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนภายใน 10.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นจะเข้าตีทันที ในตอนที่กำลังเจรจากันนี้ กองทัพญี่ปุ่นก็เข้าประชิดชายแดนไทยแล้ว และเริ่มปฏิบัติการยกพลขึ้นบกตามแผนที่วางไว้พร้อมกันตั้งแต่เวลา 0200 น. 

 

 

 

สมรภูมิท่าแพ  นครศรีธรรมราช


พายุฝนกระหน่ำหนักตั้งแต่ตีสาม  พลตรี หลวงเสนาณรงค์ ผบ.มทบ 6 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับโทรเลขด่วนจากจังหวัดสงขลามีใจความว่า ตรวจพบกองเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาในอ่าวสงขลา บริเวณเกาะหนู เกาะแมว และทำการยกพลขึ้นบกยึดสถานที่ราชการและพื้นที่หาดสมิหราไว้ได้ หลังจากนั้นไม่กี่นาที แตรเดี่ยวซึ่งประจำอยู่นะที่ตั้งกองรักษาการ มทบ.6 ก็แผดเสียงแจ้งเหตุสำคัญ บรรดานายทหาร นายสิบ ต่างวิ่งกันพล่านเพื่อแต่งตัว เตรียมอาวุธ แล้วไปรวมกันที่จุดรวมพล 


ในขณะที่กำลังจัดเตรียมกำลังคนและอาวุธอยู่นั้นเอง พลตรี หลวงเสนาณรงค์ก็ได้รับรายงานว่ากองทัพญี่ปุ่นลำเลียงกำลังลงเรือท้องแบนแล้วล่องมาตามคลองท่าแพ โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดตลาดท่าแพ ถ้าเป็นยุคนี้ก็ต้องบอกว่างานเข้าแบบเต็มๆเพราะ  ตลาดท่าแพตั้งอยุ่ห่างจากหน้าค่ายแค่ไม่กีร้อยเมตรเองครับ 


 ด้วยสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติผบ.มทบ.6 จึงมีคำสั่งให้ ผบ.กองรักษาการณ์นำทหารในกองรักษาการทั้งหมดเข้าสนับสนุนหน่วยที่อยู่หน้าสุดคือ กองร้อยที่ 2 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15 ซึ่งในขณะนั้นเริ่มมีการปะทะกันด้วยปืนเล็กและปืนกลแล้ว พร้อมกับสั่งให้รวบรวมกำลังทหารภายในหน่วยทั้งหมด ขึ้นสมทบทหารจากกองรักษาการณ์ที่ล่วงหน้าไปแล้ว   


ญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าแนวยิงห่างจากรั้วลวดหนามของ ป.พัน 15 ไม่ถึง 400 เมตร โรงเก็บปืนใหญ่ของร้อย 2 ถูกระดมยิงอย่างหนักจนไม่สามารถลากปืนออกมาตั้งยิงได้  ต้องใช้ปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ไปนำกลับมาจากร้านงานฉลองรัฐธรรนูญ มาตั้งยิงกระบอกแรกตั้งยิงที่หน้าร้อย 1  ส่วนอีกกระบอกตั้งยิงข้างคลังกระสุนของร้อย 2  จังหวะนั้นญี่ปุ่นส่งกำลังบางส่วนเข้าตีโอบ พ.ท หลวงอนันต์สุรกาจ ผบ.พันจึงสั่งให้ ผบ.ร้อย 1 นำเอา ป.63 มาตั้งยิง 2 กระบอก  นอกเหนือจากกำลังพลประจำปืนใหญ่แล้ว ทุกนายที่เหลือใช้อาวุธปืนเล็กยาวเข้าปะทะกับข้าศึกทั้งหมด  ปืนใหญ่ฝ่ายไทยเปิดฉากยิงลงพื้นที่ท่าแพและตามแนวลำคลองท่าแพกับคลองบางพูน ฝั่งญี่ปุ่นเองก็ตอบโต้กลับด้วยปืนค.และปืนใหญ่ทหารราบเช่นกัน แต่ไม่สามารถเจาะแนวป้องกันของ ป.พัน 15 เข้ามาได้ 

 

ในส่วนของทหารราบซึ่งประกอบไปด้วย ทหารจากกองรักษาการณ์ มทบ.6, ร.พัน 39 ,ป.พัน 15,ส.พัน 6 และ พ. มณฑล 1 สบทบด้วย ยุวชนทหารจากหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 44 ประมาณ 1 กองร้อย ได้เข้าปะทะข้าศึกตั้งแต่ช่วงแรกและพยายามผลักดันข้าศึกให้ถอยร่นอยู่เช่นกันการรบเป็นไปอย่างรุนแรงดุเดือดจนถึงขั้นติดดาบปลายปืนเข้าปะทะกันเลยทีเดียวครับ รบกันอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ เช้ามืดจนมีคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารบกให้ทหารไทยทุกหน่วยยุติการรบ และยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ ในการรบที่นครศรีธรรมราชนี้มีทหารไทยพลีชีพ 38 นาย บาดเจ็บร่วม 100 นาย  


ติดตามตอนต่อไป 

ที่มา 
-หนังสือ ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น 

-สงครามมืดวันญี่ปุ่นบุกไทย

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all