เพราะอะไร ? ป้ายห้อยคอเราถึงเรียกว่า " Dogtag " และทำไมมันถึงอยู่คู่กับทหารทุกนายในสนามรบ Valor Tactical

การพกพาสิ่งที่ใช้ระบุตัวตนของเราได้ในช่วงสงคราม
อาจจะดูไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะมันก็มีมาในทุกสงคราม
ตลอดหลายร้อยหลายพันปีในประวัติศาสตร์ของมนุษย์กันอยู่แล้ว

แต่ในกองทัพสหรัฐอเมริกา ของชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมาใช้
จนกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถทำให้มันดูไม่ซับซ้อน
และแพร่หลายความเชื่อนี้ไปทั่วโลก

ใช่ครับ .. สิ่งนั้นคือ " Dogtag " หรือป้ายห้อยคอ
ระบุตัวตนของทหารในสนามรบ

ภาพประกอบ : กำแพงโล่ของนักรบชาวสปาร์ตัน

ในสมัยอดีตโบราณ นักรบชาวสปาร์ตันมีการออกแบบโล่ของตนเอง
ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อที่ว่าหากต้องล้มตายจากการเสียชีวิตในสงคราม
โล่ที่ตนใช้จะสามารถถูกตามหาและส่งกลับไปหาลูกเมียที่บ้านได้

ถึงแม้จะดูเป็นไอเดียที่ดีและน่าประทับใจ แต่ลองนึกถึงการที่ต้องมานั่ง
แกะสลักโล่ของตัวเอง คงเป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่น้อยสำหรับคนหนึ่งคน
ซึ่งแน่นอน มันต้องใช้เวลามากพอสมควรแน่ๆในการทำของขึ้นมาชิ้นหนึ่ง
โดยที่ไม่รู้ว่ามันอาจจะสูญหายระหว่างสู้รบด้วยหรือเปล่า

 

ภาพประกอบ : ซิกนาคุลุมของเลจอนแนร์โรมัน

ต่อมา เลจอนแนร์ นักรบชาวโรมันก็ได้เริ่มมีการนำแผ่นตะกั่วทรงกลมใส่ถุงไว้
แล้วนำมาห้อยคอโดยมันมีชื่อเรียกว่า ซิกนาคุลุม (Signaculum)

แผ่นตะกั่วทรงกลมนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกในประวัติศาสตร์
ว่าด้วยการกล่าวถึงความเป็นมาของป้ายด็อกแท็กนั้นเอง
แผ่นตะกั่วนี้มีการระบุข้อมูลทั้ง ชื่อของนักรบเลจอนแนร์และเขตที่เขาประจำการอยู่

ถัดมาหลังจากนั้น ป้ายระบุตัวตนก้ได้มีการแจกจ่ายให้แก่ทหาร
ของจักรวรรดิจีนในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 ป้ายระบุตัวตนเหล่านี้
ทำมาจากไม้ พกพาไว้ที่บริเวณเข็มขัด และข้อมูลที่อยู่บนป้ายนั้น
ระบุชื่อของทหาร อายุ ที่เกิด หน่วยรบ และวันที่เกณฑ์เข้ามาเป็นทหาร



ประวัติศาสตร์ของป้ายด็อกแท็ก

ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา
ทหารบางนายในสงครามได้มีการปักข้อมูลระบุตัวตนของตัวเอง
ลงบนชุดเครื่องแบบ เช่น ชื่อและที่อยู่บ้าน

บางนายก็ใช้วิธีการเขียนข้อมูลของตนลงบนเป้กระเป๋า
หรือขีดเขียนลงบนหัวเข็มขัด

เนื่องมาจากการสังเกตุการณ์ของผู้ผลิต
และด้วยความช่างสังเกตุของพ่อค้าในขณะนั้น
ซึ่งเริ่มเห็นถึงปริมาณความต้องการในป้ายระบุตัวตนเพื่อใช้ในการรบ

ผู้ผลิตจึงได้มีการเริ่มทำการโฆษณาถึงความจำเป็นในป้ายระบุตัวตน
ต่อทหารที่ทำการรบและครอบครัวของพวกเขา โดยป้ายระบุตัวตนเหล่านี้
มักจะถูกปักเป็นรูปเหล่าทัพที่ทหารนายนั้นสังกัดอยู่ และถูกแกะสลัก
เป็นชื่อของทหารและหน่วยที่เขาประจำการอยู่

แผ่นระบุตัวตนที่ถูกผลิตขึ้นด้วยเครื่องแสตมป์มักจะถูกผลิตด้วย
วัสดุทองเหลืองหรือตะกั่ว และมักจะมีนกอินทรีหรือโล่ในด้านหนึ่ง
และในบางชิ้นก็มีการระบุชื่อของสนามรบที่ได้ร่วมรบในอีกด้าน

อย่างไรก็ตาม ป้ายระบุตัวตนเหล่านี้ต้องถูกซื้อด้วยตัวของทหารเอง
หรือครอบครัว ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถครอบครองได้

ภาพประกอบ : ป้ายด็อกแท็กของทหารสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 1

ต้องรอจนกว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ป้ายระบุตัวตนได้กลายมาเป็น
ส่วนหนึ่งของชุดเครื่องแบบทหารอเมริกันจริงๆ

ในปี ค.ศ.1906 ได้มีคำสั่งหมายเลข 204 ที่ประกาศโดยกระทรวงการสงคราม
( กระทรวงกลาโหมในยุคนั้น ) ที่ระบุว่าทหารทุกนายต้องมีการพก
ป้ายระบุตัวตนอลูมินัมไว้ตลอดเวลา

คำสั่งหมายเลข 204 ระบุว่าป้ายระบุตัวตนควรจะถูกห้อยไว้ที่บริเวณคอ
ภายใต้ชุดเครื่องแบบ ห้อยด้วยสายหรือลูกประคำผ่านช่องเล็กๆ
ที่เจาะบนป้ายระบุตัวตน และได้มีการบรรยายอย่างละเอียดว่าป้ายระบุตัวตน
ได้กลายเป็นหนึ่งในส่วนเครื่องแบบมาตรฐานของทหารสหรัฐแล้ว
ป้ายระบุตัวตนได้ถูกแจกจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ฟรี
แต่ทหารชั้นสัญญาบัตรยังคงต้องเสียเงินซื้อ

เมื่อถึงปีค.ศ.1916 กองทัพบกสหรัฐได้มีการเปลี่ยนกฎ
ให้มีการพกป้ายระบุตัวตน 2 ป้าย โดยป้ายหนึ่งจะอยู่กับเจ้าตัว
และอีกป้ายจะต้องถูกส่งไปยังฝ่ายบันทึกข้อมูล

สองปีต่อมา กองทัพบกสหรัฐก็ได้มีการนำหมายเลข
สมาชิกกระทรวงกลาโหมมาใช้งาน ซึ่งใช้งานได้ไม่นานนัก
เนื่องจากมันจะเพิ่มภาระการทำงานหลายขั้นตอนมากจนเกินไป 
ซึ่งต่อมาก็ได้มีการล้มเลิกตรงนี้ไป และได้เปลี่ยนโดยการ
นำหมายเลขระบบประกันสังคมมาใส่แทน



ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่นทรงกลมก็ได้ถูกแทนที่
ด้วยแผ่นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าโค้งมนซึ่งกลายเป็นดีไซส์ที่ยังใช้
จนมาถึงทุกวันนี้ และนี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักประวัติศาสตร์
ลงความเห็นว่ามันคือช่วงที่ป้ายระบุตัวตนได้ถูกเรียกว่า ด็อกแท็ก
เพราะมันเหมือนป้ายชื่อติดสายคล้องคอของสุนัขนั้นเอง

แล้วอะไรบ้างที่อยู่บนป้ายด็อกแท็ก?

เมื่อผ่านมานานหลายปี ข้อมูลที่ถูกพิมพ์ลงบนด็อกแท็ก
ก็ได้มีการเปลี่ยนไปตามเวลาและยุคสมัย

และแต่ละเหล่าทัพก็มีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ยังคงเดิมมาตั้งแต่สมัยอดีต คือการมีอยู่ของ
ชื่อของทหาร ศาสนา และหมู่เลือด

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีเพียงแค่ 3 ศาสนา
ที่ทหารสามารถระบุลงบนด็อกแท็กของพวกเขาได้
P สำหรับโปรแตสเตนท์, C สำหรับคาธอลิค และ H สำหรับฮิบริว (ยิว)

แต่ปัจจุบันนั้น มีตัวเลือกที่หลากหลายมากมาย
ตั้งแต่ NRP (No Religious Preference - ไม่มีศาสนา)
ไปจนถึง D สำหรับ ดรุอิด ไม่มีมีข้อห้ามใดๆหรือศาสนาที่เป็นทางการในการระบุ

สำหรับป้ายด็อกแท็กของนาวิกโยธินสหรัฐนั้น จะมีข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อย
นั่นคือการระบุขนาดไซส์หน้ากากกันแก็ซที่ทหารนายนั้นสวมใส่ด้วย

ด็อกแท็กปัจจุบันยังใช้ระบบสองด็อกแท็ก นั่นหมายความว่าในทหาร 1 คน
จะมีด็อกแท็กติดตัว 2 ชิ้น โดยแยกเป็นอันแรกจะห้อยกับสายคล้องคอยาว
และอีกอันที่ห้อยกับสายที่สั้นกว่า

ด็อกแท็กที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย
มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม แต่มันก็ได้มีการพูดคุยกัน
ถึงการเปลี่ยนข้อมูลบนด็อกแท็กที่มีการเสนอให้เพิ่มด็อกแท็กอีกหนึ่งอัน
เพื่อระบุข้อมูลของทหาร ข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลย้อนหลัง



ด็อกแท็กในปัจจุบันบางส่วนได้มีการนำมาเคลือบด้วยผิวยางบริเวณขอบ
เพื่อลดเสียงกระทบกันระหว่างด็อกแท็กด้วยกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
หากเกิดเสียงดังขึ้นผิดที่ผิดเวลา



ด็อกแท็กสมัยใหม่ถูกคาดหวังให้มีการบรรจุเทคโนโลยีไมโครชิป
ที่จะสามารถบันทึกข้อมูลของทหารเกี่ยวกับประวัติด้านการแพทย์
และทันตกรรมได้

ซึ่งหากคิดดูแล้ว เรื่องของด็อกแท๊กระบุตัวตนทหาร
มันเป็นอะไรที่พัฒนามาไกลมาก หากนับจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโล่ของนักรบชาวสปาร์ตัน
แต่ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดิมของมัน นั่นคือการที่ใช้ระบุตัวตนของทหาร
และจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะถูกนำกลับมาสู่ครอบครัวที่รักของเขา
ในยามที่เขาจากโลกนี้ไปแล้วนั่นเอง

ที่มา
https://www.wearethemighty.com/history/why-theyre-called-dog-tags?rebelltitem=1#rebelltitem1

เขียนโดย Jessica Evans 16 กันยายน ค.ศ.2020
แปลโดย เทอดพงษ์ ฉายะรถี เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.2020
เรียบเรียงโดย รณกฤต ศรีพุมมา เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.2020

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all