ย้อนรำลึก 22 ปี - สรุปเหตุการณ์ God Army บุก รพ.ราชบุรี ถอดบทเรียนและกลยุทธของชุดปฏิบัติการพิเศษไทย Valor Tactical
" ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด " 

หนึ่งในท่อนร้องของเพลงชาติที่บ่งบอกหนึ่งในลักษณะนิสัย
ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยและชาวไทยทุกคนเป็นอย่างดี

เนื่องจากประเทศของเรามักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ใฝ่หาความสุขสงบ
และมองหาสันติวิธีในการแก้ไขทุกๆปัญหาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเรา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในประเทศและในต่างประเทศก็ตาม

แต่หากเมื่อถึงคราวที่การเจรจาไม่เป็นผล ... เราก็มีความเด็ดเดี่ยว 
และมีความกล้าหาญที่จะเอาชนะศัตรูที่มุ่งหมายทำร้ายเพื่อนร่วมชาติ
ได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ไม่แพ้นักรบชาติอื่นๆในโลกใบนี้เลย

และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวของความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
ไม่ยอมแพ้และผ่อนปรนต่อความต้องการของผู้ก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นจริงในไทย ...

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบาย มิใช่รถที่อยู่ในเหตุการณ์จริง

ช่วงเช้าตรู่อันเงียบสงบในวันที่ 24 มกรา 2543 นายพินิจ ปองมณี
ยังคงทำหน้าที่เฉกเช่นทุกวันในฐานะของคนขับรถบัสสาย 18
เขาได้พบกับชาย 2 คนบริเวณเนินเขาจะเข้บ้านห้วยสุต บ้านหวายน้อย ต.สวนผึ้ง 

ชาย 2 คนนั้นได้โบกรถเพื่อที่จะเดินทางไปตามเส้นทาง
ที่รถบัสขับผ่านอยู่ทุกวัน และเมื่อรถบัสจอด ประตูเปิดออก
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ได้เปลี่ยนชีวิตเขา ประเทศไทยและชาวราชบุรีไปตลอดกาล ....



ชายที่ขึ้นรถได้คว้าอาวุธปืนและทำการจ่อไปที่ศรีษะ
ของนายพินิจ ปองมณีที่เป็นคนขับรถให้ยอมจำนนก่อนจะส่งสัญญาณ
ให้กับชายฉกรรจ์อีก 8 คนที่ถืออาวุธซุ่มรออยู่ในป่าข้างทาง
ในการวิ่งขึ้นมาบนรถบัสคันดังกล่าวเพื่อเตรียมออกเดินทาง ...

พวกเขากำลังจะไปทำภารกิจใหญ่ ด้วยการบุกโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
สถานที่ที่เต็มไปด้วยหมอ , พยาบาล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับพวกเขา
ในการช่วยชีวิตพี่น้องชาวกะเหรี่ยงกองกำลัง God Army ที่ได้รับบาดเจ็บ
จากการสู้รบกับกองทัพพม่าในช่วงเวลานั้น

การเดินทางเป็นไปตามแผนการณ์ที่วางไว้ การซ่อนอาวุธอย่างเรียบเนียน
บทพูดและคำสั่งที่กำหนดให้คนขับทำตามที่บอก รวมไปถึงความคุ้นเคย
ของเจ้าหน้าที่และด่านตรวจที่มักเห็นรถบัสคันดังกล่าวขับผ่านอยู่เป็นประจำ
เนื่องจากเป็นรถบัสเที่ยวเช้าซึ่งเป็นรถที่ชาวบ้านต่างขึ้นรถเพื่อนำของไปขาย ,
นักเรียนกำลังเดินทางไปโรงเรียน จึงทำให้เกิดการละเลยต่อการตรวจสอบ
ทำให้พวกเขาเดินทางได้อย่างราบรื่นจนถึงที่หมายโดยไม่มีคนสังเกตุ



เมื่อถึงที่หมายในเวลา 07:00 ชาย 10 คนพร้อมอาวุธครบมือ
ได้สั่งให้รถบัสขับฝ่าด่านเข้าไปยังตึกอำนวยการของโรงพยาบาลศูนย์ลพบุรี
เมื่อรถจอดสนิทก็ได้เห็นกองกำลังก๊อดอามี่ 10 คน ในชุดพรางใบหน้า
พร้อมอาวุธสงครามครบมือ อย่างปืนเอ็ม 16 และ เอ็ม 79 รวมถึงปืนอาก้า
บุกเข้าไปและเข้ายึดโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการขัดขวางใดๆ
โดยมีการแบ่งกองกำลังเป็น 3 ส่วน กลุ่มที่หนึ่งบุกเข้าไปควบคุมตัว
ชุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กลุ่มที่สองบุกเข้าไปที่ชั้นสอง
เพื่อทำการติดตั้งระเบิดในอาคารและบริเวณโดยรอบอาคาร 
และกลุ่มที่สาม ทำหน้าที่ในการบุกและควบคุมตัวพลเรือนที่อยู่ในโรงพยาบาล

ผู้นำของกลุ่มซึ่งถูกเรียกว่าเป็นหัวหน้าชุดโจมตี ในชื่อเรียกว่า ปรีดา 
หรือ " เบดา " หรือ " หนุ่ย " ผู้เป็นนักรบคนสำคัญของกลุ่มก๊อดอามี่
และมีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ออกคำสั่ง
รวมไปถึงสั่งการให้กองกำลัง ทำการกวาดต้อนบุคลากรทางการแพทย์
ไม่ว่าจะเป็นหมอ และพยาบาล รวมไปถึงผู้ป่วยและญาติที่มาเยี่ยม
ในโรงพยาบาลช่วงเวลานั้น ให้รวมตัวกันที่บริเวณตึกอำนวยการชั้น 2 
เพื่อใช้เป็นตัวประกัน เบื้องต้นมากถึง 200 คน 

เสียงปืนจากอาวุธสงครามที่ดังเป็นระยะๆ สร้างความแตกตื่นให้กับ
ผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลและชาวบ้านโดยรอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนท้องถิ่น
ต่างรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกินกว่าพวกเขาจะรับมือได้ พวกเขาส่งข้อมูล
ไปยังหน่วยเหนือเพื่อขอการสนับสนุนจากส่วนกลาง



เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ ทางตัวแทนของกลุ่มก๊อดอามี่
ได้เริ่มข้อเรียกร้องเบื้องต้นต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในตอนนั้น

1.ออกคำสั่งให้ตำรวจวางกำลังห่างจากโรงพยาบาล 300 เมตร
ห้ามเข้าใกล้บริเวณ รพ. มากกว่านั้น
2. ขออาหาร , น้ำดื่ม และบุหรี่
3. ขอโทรศัพท์มือถือสำหรับติดต่อ 1 เครื่อง

เมื่อทุกฝ่ายทราบข่าว ต่างเกิดความชลมุนวุ่นวายทั่วเมืองราชบุรี
นักข่าวและบรรดาไทยมุงจากทุกสารทิศต่างเดินทางมารอที่บริเวณ รพ. 
จำนวนนักข่าวและสำนักข่าวทั่วประเทศที่พรั่งพรูเข้ามา ทำให้เกิดปัญหา
สัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย เนื่องจากมีคนใช้งานพร้อมกันในพื้นที่เดียวกันจำนวนมาก

ตำรวจได้สั่งการปิดการจราจรในถนนทุกสายที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตัว รพ.
ส่วนบริหารจังหวัดราชบุรี ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1
ทำการจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะกิจ 
ที่บริเวณอาคารสนามกีฬา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของ รพ.ราชบุรี



ในขณะนั้นเอง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ทำการยึด รพ. ทั้งหมด
และควบคุมตัวผู้ป่วยและบุคลากรแพทย์เพิ่มเติม รวมกันได้ราวๆ 780 คน
ประกอบไปด้วยผู้ป่วย 580 คน และเจ้าหน้าที่ใน รพ. อีก 200 คน 

ในช่วงเวลา 8:00 ได้มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากหัวหน้าผู้ก่อการ
กับทางเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีก 2 ข้อ 

1.ต้องการให้มีการลำเลียงทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงอุปกรณ์
   เดินทางไปกับพวกตนเพื่อเข้าไปรักษากองกำลังกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บ
   จากการสู้รบในเขตชายแดน ไทย-พม่า
2. ขอให้ประเทศไทยทำการเปิดชายแดนเสรี เพื่อให้กองกำลังกะเหรี่ยง
   ได้มีที่พักพิงอยู่ในประเทศไทย


แต่หากในจุดนั้น ทางฝั่งไทยและเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการตอบกลับใดๆกับผู้ก่อเหตุ
จึงทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุ ตัดสินใจยิงปืนขึ้นฟ้าและยิงยางรถยนต์ในบริเวณ รพ. 
เพื่อทำการข่มขู่ และแสดงออกว่าพวกเขาเอาจริง



ในช่วงเวลานั้นเอง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายชวน หลีกภัย
ได้มอบหมายให้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผู้เป็น ผบ.ทบ. ในขณะนั้น
ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการแก้ไขเหตุการณ์ซึ่งมีความต้องการหลักนั่นคือ

" ตัวประกันทุกคนต้องปลอดภัยและเกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด "



หลังจากนั้นไม่นานกองกำลังพิเศษได้ถูกเรียกเข้าพื้นที่
อันประกอบไปด้วยหน่วยนเรศวร 261 และอรินทราช 26 
และมีกองกำลังทหารพร้อมเจ้าหน้าที่ สห. เข้าช่วยเหลือ
ในการตั้งแนวป้องกันและประสานงานในพื้นที่โดยรอบ

จนถึงเวลาประมาณ 11:00 ทางกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ประกาศข้อเรียกร้อง
อย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งแสดงถึงเจตนาที่แท้จริงของการก่อเหตุในครั้งนี้

  1. ขอร้องให้ฝ่ายรัฐบาลไทย ทหารไทยหยุดใช้ปืน ค 120 มม ยิงผู้อพยพชายแดน เช่น กะเหรี่ยง มอญ พม่า ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200-300 คนแล้ว และมีทั้งเด็ก ผู้หญิง ซึ่งเป็นพลเรือนไม่ใช่ทหาร
  2. ขอร้องให้ทหารไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่า โดยหยุดช่วยเหลือด้านนำกำลังเข้ามาทางเขตไทย หยุดยิงจากเขตชายแดนไทย หยุดการฆ่า ข่มขืน พวกอพยพ
  3. ขอร้องให้รัฐบาลไทยทำการช่วยเหลือผู้อพยพ โดยให้นำผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทย เนื่องจากผู้อพยพไม่มีอาหารประทังชีวิต ขอให้ช่วยเหลือด้านอาหารโดยด่วน และเต็มที่
  4. ขอร้องให้รัฐบาลไทย และ UN ประชุมปรึกษากัน และกดดันรัฐบาลพม่าให้รัฐบาลพม่ายอมรับและช่วยเหลือผู้อพยพให้มีชีวิต
    ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  5. ให้รัฐบาลไทยทำการดำเนินคดีลงโทษ หัวหน้าทหารไทย
    ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ยิงผู้อพยพในพื้นที่ดังกล่าว

ถึงแม้จะดูเป็นคำเรียกร้องที่เรียบง่าย และหลายๆคนอาจจะมองว่า
มันคือความจำเป็นที่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องเลือกที่จะทำเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือ
แต่ถึงอย่างนั้น .. สิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการละเมิดอธิปไตย
ของประเทศไทยอย่างไม่น่าให้อภัย และไม่มีกลุ่มก่อการร้ายไหนที่อหังการมากพอ
ที่จะใช้โรงพยาบาลในการก่อเหตุและจับตัวประกัน ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกก็ตาม



ระหว่างที่ทำการเจรจา ทางชุดปฏิบัติการได้วางแผนที่จะบุกเข้าไปช่วยเหลือ
ตัวประกันที่อยู่ในพื้นที่หลายครั้ง แต่ก็ถูกขัดขวางเนื่องจากผู้ก่อเหตุ
ได้ทำการวางกับระเบิดตามแนวโดยรอบพื้นที่อย่างหนาแน่น
โดยเฉพาะตามแนวที่จอดรถ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแทรกซึมเข้าพื้นที่ได้

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด เมื่อพบว่ายังคงมีผู้ป่วยและพลเรือนที่ติดค้าง
อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลมากกว่าที่ประเมินไว้ และด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง
อาจจะทำให้พลเรือนได้รับลูกหลงหากมีการปะทะกัน จึงทำให้ชุดปฏิบัติการ
ตัดสินใจชะลอแผนการบุกเข้าไปก่อนในเบื้องต้น

ในช่วงเวลา 13:00 ได้มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากผู้ก่อเหตุ ว่าต้องการอาหาร
น้ำดื่ม และให้นักข่าวเข้าไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้าไปทำข่าวและเผยแพร่เจตนา
และข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ก่อเหตุในทุกช่องทางของประเทศ
โดยแลกมากับการปล่อยตัวประกันบางส่วนออกมา



จากการที่นักข่าวได้เข้าไป ทำให้พบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุนั้น มิได้ทำอันตรายใดๆ
ต่อตัวประกันที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงยังมีการจัดสรร แบ่งปันอาหารและน้ำดื่ม
ให้กับตัวประกันเป็นอย่างดี รวมถึงผู้ก่อเหตุเน้นขอร้องเพื่อขอความร่วมมือ
โดยแสดงออกว่าไม่อยากทำร้ายใคร เพียงแค่ต้องการเรียกร้องความช่วยเหลือ
ให้กับผู้คนของเขาเท่านั้น

หนึ่งในตัวประกันถึงกับเล่าว่า ผู่ก่อเหตุได้ทำการคัดเลือก
ผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยอาการหนัก เพื่อเตรียมปล่อยตัวประกันออกไป
ในขณะเดียวกันก็มีการป้อนข้าว ป้อนน้ำให้แก่คุณยายสูงอายุที่กำลังนอนติดเตียง
และได้ขอร้องให้ทีมนักข่าวช่วยกันลำเลียงคุณยายเพื่อเตรียมออกจากพื้นที่อีกด้วย

และในเวลา 14:00 ก็ได้มีการปล่อยตัวประกันชุดแรกประมาณ 30 คนออกจากพื้นที่
ในขณะเดียวกันก็มีการลักลอบ หลบหนีของกลุ่มตัวประกันที่ยังไม่ถูกควบคุมตัว
อีกราวๆ 50 คน ออกจากอาคารในอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือ
โดยเจ้าหน้าที่โดยรอบได้อย่างปลอดภัย 



จากข้อมูลที่ได้รับจากชุดนักข่าว รวมถึงภาพเหตุการณ์ด้านใน 
ได้ช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวและข้อมูลที่สำคัญให้กับชุดปฏิบัติการ
ในการวางแผนช่วยเหลือ รวมถึงการได้รับข้อมูลที่สำคัญมากๆว่า 
หัวหน้าของชุดผู้ก่อเหตุดังกล่าวนั้น คือกลุ่มนักศึกษาชุดเดียวกัน
กับที่เคยก่อเหตุบุกยึดสถานทูตพม่าใจกลางกรุงเทพ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 หรือช่วง 3 เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์นี้

สถานการณ์ก่อนหน้านั้นแม้ว่าจะจบลงด้วยดี แต่ก็ทำให้ประเทศไทย
ถูกจับตามองจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รวมถึงสายตาของนานาประเทศ
ที่ต่างตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในประเทศไทย เพราะสถานที่ตั้ง
ของตัวสถานทูตพม่าที่เคยเกิดเหตุนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งใจกลางเมืองหลวงของไทย

เหตุการณ์บุกรพ.ราชบุรีครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตามองของนานาชาติ
และคนไทยทั้งประเทศ ทุกคนกำลังจับตามองการตัดสินใจของผู้นำ
ในภาวะแบบนี้ว่าจะเป็นเหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่ ? และต่อจากนี้
ทิศทางของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร ? ประเทศไทยจะกลายเป็น
หนึ่งในเป้าหมายให้ถูกโจมตีเรื่อยๆต่อไปหรือไม่ ?

และนั่นทำให้ผู้บัญชาการแก้ไขเหตุการณ์ รวมถึงทีมวางแผนปฏิบัติการทุกส่วน
มองว่าหากเราใช้การผ่อนปรน หรือสันติวิธีเหมือนกับเหตุการณ์ครั้งแรกนั้น
อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น และทำให้ประเทศไทย
รวมถึงประชาชนชาวไทยเกิดอันตรายมากขึ้นในอนาคต หากผู้ก่อความไม่สงบ
มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เอาแต่ยอมทำตามข้อเรียกร้องทุกอย่าง
อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆได้อีกอย่างแน่นอน

จึงทำให้มีการวางแผนปฏิบัติการชิงตัวประกัน โดยมุ่งเน้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ปลอดภัยที่สุด และรวดเร็วที่สุด เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ที่กำลังจับตามองประเทศไทยอยู่ว่าพวกเราก็จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้
ขึ้นอีกเช่นเดียวกัน



ต่างฝ่ายต่างชิงไหวพริบซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ทางฝั่งของผู้ก่อเหตุ
เลือกที่จะเจรจาและนำผู้สื่อข่าว เข้าไปทำข่าวอัพเดตสถานการณ์เพื่อแลกกับ
ตัวประกันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อต้องการให้ข่าวที่เผยแพร่เป็นไปตามที่ต้องการ
และลดโอกาสการที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปเพื่อระงับเหตุ ซึ่งอาจจะทำให้ภาพลักษณ์
ความรุนแรงถูกเผยแพร่ออกไปทันที รวมถึงช่วยระบายตัวประกันที่ต้องได้รับการดูแล
เป็นพิเศษให้ออกจากพื้นที่ เพื่อลดภาระและเพิ่มความคล่องตัว
ในการควบคุมสถานการณ์โดยรวมของตัวผู้ก่อเหตุเอง

ในขณะเดียวกันทางฝั่งเจ้าหน้าที่ก็เลือกใช้ชุดสายสืบในการปลอมตัวเข้าพื้นที่
ด้วยการแทรกซึมกับทีมงาน หรือตัวประกันในพื้นที่เพื่อส่งข่าวและข้อมูล
โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องของสถานะผู้ก่อเหตุ , สถานที่ , ตำแหน่งผู้ก่อเหตุ
, จุดอับสายตาและจุดที่สามารถใช้เป็นที่กำบังและฐานส่งกำลังบำรุง
หากต้องมีการปะทะกันในระยะยาว ส่วนบัญชาการก็มีการหยิบนำเอา
แบบแปลนก่อสร้าง , ผังอาคารโดยรอบ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนปฏิบัติการ
รวมถึงมีการสั่งให้ชุดจู่โจม เตรียมพร้อมรับคำสั่งตลอดเวลา

รวมไปถึงชุดเจรจาต่อรองที่ได้เลือกนำบุคลากรคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ
เข้ามาช่วยลดความตึงเครียด และคอยพยุงสถานการณ์ของผู้ก่อเหตุ
เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นการประสานการปฏิบัติ
ในทุกภาคส่วนได้อย่างดีเยี่ยม ไม่มีขาดตกบกพร่อง



เมื่อถึงช่วงหัวค่ำ ทางผู้ก่อเหตุได้ทำการเปลี่ยนกลยุทธ
ด้วยการให้สมาชิกบางคนเปลี่ยนเครื่องแบบสวมใส่เป็นชุดผู้ป่วย
และชุดพลเรือนเพื่อพรางตัวกลมกลืนเข้ากับกลุ่มตัวประกัน
จุดประสงค์ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชุดซุ่มยิงยากแก่การตรวจสอบ
และยืนยันเป้าหมายทำให้ชุดปฏิบัติการยากที่จะตัดสินใจดำเนินกลยุทธได้

ในขณะเดียวกัน กลุ่มสื่อมวลชนเมื่อเห็นช่องทางที่ผู้ก่อเหตุได้เปิดช่องให้ทำข่าว
ก็ทำให้เกิดความพยายามในการแย่งทำข่าวของทุกฝั่งในพื้นที่โดยรอบ รพ.
เลยทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างการทำงานของสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่
อันเนื่องมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ก็กำลังมองหาโอกาสที่จะเข้าไประงับเหตุการณ์
ในขณะที่สื่อมวลชนก็พยายามหาเรื่องราวใหม่ๆมาอัพเดตลงช่องข่าวของตน

และนั่นทำให้ผู้ก่อเหตุสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ภายนอก
ได้เช่นเดียวกัน และทำให้ชุดปฏิบัติการทำงานได้ลำบากยิ่งขึ้น
แม้ว่าจะขอความร่วมมือกับทางสื่อมวลชนมากแค่ไหน แต่ก็ต้องมีการแบ่งกำลัง
เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวแทรกซึมเข้าใกล้พื้นที่โรงพยาบาลมากเกินกว่า
ที่ทางผู้ก่อเหตุได้กำหนดไว้ซึ่งมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งตลอดทั้งคืน



เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการเผยแพร่ข่าวได้ทำการเปิดเผย
หนึ่งในคำพูดของ น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งให้สัมภาษณ์
ออกข่าวว่า จะดำเนินการกับผู้ก่อการอย่างเด็ดขาดไม่มีการผ่อนปรน

ซึ่งมีเรื่องเล่าจากหนึ่งในตัวประกันว่า เมื่อหัวหน้าผู้ก่อเหตุอย่างนายปรีดา
ได้ชมข่าวนี้ผ่านทีวีในโรงพยาบาล ถึงกับน้ำตาคลอและพูดขึ้นมาว่า 
" คราวนี้เห็นที่จะไม่รอดเสียแล้ว " และมีการแสดงแววตาที่เครียดอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มผู้ก่อเหตุได้ทำการเคลื่อนย้ายกับระเบิด
รวมถึงระเบิดเคลยมอร์ จากบริเวณด้านนอกที่จอดรถ เข้าไปภายในอาคาร
ซึ่งจุดนั้นทำให้ผู้สังเกตุการณ์เห็นว่า ระเบิดที่ถูกย้ายเข้าไปอาจสร้างอันตราย
ต่อตัวอาคารและตัวประกันทั้งหมดได้



เมื่อถึงช่วงดึก .. ความเหนื่อยล้าและตึงเครียดเริ่มเข้าครอบคลุม
ชุดสายสืบเริ่มสังเกตุเห็นถึงความเหนื่อยล้า ผู้ก่อเหตุมีการจัดสรร
เวรยามเพื่อพักผ่อนแต่ก็เริ่มสังเกตุถึงเกิดอาการระสับระส่าย พูดจาวกวน
อันเนื่องมาจากความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสมของตัวผู้ก่อเหตุ

ในส่วนของผู้บังคับบัญชาเริ่มมีการแยกย้ายเพื่อจัดประชุมลับเฉพาะกลุ่ม
รวมถึงออกคำสั่งให้ชุดซุ่มยิงและชุดปฏิบัติการเตรียมพร้อมรับมือในทุกวินาที

ช่วงก่อนถึงเที่ยงคืนทางผู้ก่อเหตุเริ่มไม่ให้ความร่วมมือกับทีมเจรจา
และได้ทำการแจ้งกับทีมเจรจาว่าจะขอยุติการเจรจาในคืนนี้ ( 23:30 )
เพื่อที่จะพักผ่อน และค่อยมาว่ากันในวันถัดไป แต่อาจจะมีการติดต่อ
ในส่วนของการขอสนับสนุนอาหารและน้ำดื่มเป็นระยะๆทุก 1-2 ชั่วโมง 



ทีมปฏิบัติการตัดสินใจที่จะดำเนินกลยุทธด้วยการแทรกซึมเข้่าพื้นที่
ซึ่งเป็นการผสานชุดปฏิบัติการพิเศษประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราช 26
และนเรศวร 261 ของตำรวจ และปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับทหารของ
ชุดปฏิบัติการพิเศษเฉพาะกิจ ( ฉก.90 ) จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
ร่วมกับทีมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดของทหารช่างและชุดเก็บกู้ระเบิดของตำรวจ

โดยแผนการเบื้องต้นคือให้ทุกหน่วยสวมใส่ชุดเครื่องแบบสีดำ ไม่มีเครื่องหมาย
เพื่อพรางตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและค่อยๆแทรกซึมเข้าพื้นที่อย่างช้าๆ

คืบคลานเข้าประจำจุดอย่างเงียบเชียบและรัดกุม รอคอยคำสั่งปฏิบัติการ
เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญต้องไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
นอกจาก 10 ชีวิตของผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

มีการแบ่งแผนปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดแรกจะทำหน้าที่จู่โจม
โดยประกบคนร้ายแบบ 2 ต่อ 1 พร้อมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด
ชุดที่ 2 รับหน้าที่ในการปิดล้อมอาคารและสนับสนุนปฏิบัติการ
หากมีคนร้ายเล็ดลอดออกมา และชุดที่ 3 คอยปิดล้อมอยู่ด้านนอก
ช่วยคุ้มกันและสนับสนุนการจู่โจม



ชุดปฏิบัติการเริ่มภารกิจในเวลา 02:00 วันที่ 25 มกรา โดยประสานการปฏิบัติ
ร่วมกับทีมเจรจาที่คอยพูดคุย และตอบรับคำขอร้องของตัวแทนผู้ก่อเหตุ
ให้นำเครื่องดื่มหรือบุหรี่เข้ามาให้เป็นระยะๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ
ของผู้ก่อเหตุและสื่อมวลชนในขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกส่วนกำลังแทรกซึม
เข้าไปยังพื้นที่อย่างช้าๆ มีเจ้าหน้าที่ชุดสืบที่ปลอมตัวอยู่ก่อนหน้านี้
ทำหน้าที่คอยรับช่วงในการดูแลพื้นที่สำคัญของอาคาร และเตรียมพร้อมรับมือ
ในการช่วยเหลือตัวประกันให้หลบอย่างปลอดภัยขณะเกิดการปะทะ
รวมถึงประสานงานร่วมกับชุดปฏิบัติการจู่โจม

โดยในคำร้องขอล่าสุด ทางผู้ก่อเหตุได้ขอให้มีการเตรียมวิทยุสื่อสาร
เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์และนักบิน เพื่อลำเลียงกลุ่มผู้ก่อเหตุ
และบุคลากรทางการแพทย์ไปยังชายแดนเขตของกลุ่มก๊อดอาร์มี่
แต่กลายเป็นว่าทางผู้ก่อเหตุเกิดปัญหาในการสื่อสารกับกลุ่มก๊อดอาร์มี่เช่นกัน
จุดนี้สร้างความตึงเครียดให้แก่ผู้ก่อเหตุและทำให้สถานการณ์ดูเลวร้ายขึ้น

แต่ความยุ่งยากก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลา 03:00 ขณะแทรกซึมเข้าพื้นที่
มีสุนัขที่อยู่ในบริเวณโรงพยาบาล ส่งเสียงเห่ากรรโชกไปยังเจ้าหน้าที่
ที่กำลังแทรกซึมเข้าพื้นที่ ทำให้การปฏิบัติการทุกอย่างชะงัก 
ผู้ก่อเหตุสะดุ้งตื่นและออกมาตรวจสอบความผิดปกติ ถึงแม้จะโชคดี
ที่ชุดปฏิบัติการไม่ถูกตรวจพบ แต่ก็ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุเกิดการระวังตัวมากขึ้น
ทำให้ชุดปฏิบัติการตัดสินใจล่าถอยไปยังจุดใกล้เคียงเพื่อตั้งหลักก่อน



ขณะเดียวกันเมื่อเห็นถึงความผิดปกติ ทางนักข่าวได้พยายามเผยแพร่ข่าว
ในลักษณะที่อาจจะเปิดเผยแผนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้
จุดนึ้ถึงกับทำให้ พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี
พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตันบุญเอก ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี
พ.อ.ทวีวัฒน์ บูรณสิงห์ (เสธ.ตั้ม) แห่ง จทบ.ราชบุรี 
ถึงกับเรียกรวมตัวแทนกลุ่มสื่อมวลชนออกมาพูดคุยกัน
เพื่อชี้แจงสถานการณ์และขอความร่วมมืออย่างชัดเจน

โดยเนื้อหาได้กล่าวเตือนสื่อมวลชนว่าการพยายามเผยแพร่ข้อมูล
ที่ยังไม่ชัดเจนอาจจะสร้างความตึงเครียดและทำให้เกิดอันตราย
ต่อผู้ก่อเหตุและตัวประกันที่อยู่ด้านในได้ พร้อมกับแจ้งว่า
สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นทางกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ระงับการติดต่อ
กับทีมเจรจาเพื่อขอพักผ่อนเรียบร้อยแล้ว และในส่วนของเจ้าหน้าที่
ก็จะทำการพักผ่อนเช่นเดียวกัน

" คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วละ ค่อยว่ากันใหม่พรุ่งนี้นะ
หลายคนอยากหลับซักงีบ นั่ง พิง นอน
เหยียดแข้งเหยียดขาตามสบายได้เลย "


เมื่อสื่อมวลชนทราบแบบนั้น ก็ตกลงที่จะให้ความร่วมมือด้วยการถอยห่าง
ออกจากพื้นที่โรงพยาบาลมาอยู่ในพื้นที่ปกติที่กำหนดเอาไว้
และด้วยความเงียบในเวลากลางคืนที่เห็นว่าชุดบัญชาการและชุดปฏิบัติการทั้งหมด
เปลี่ยนมาอยู่ในสถานะเตรียมพร้อม และมีการพักผ่อนยืดเหยียดขาอย่างสบายใจ

ทำให้เชื่อว่า สถานการณ์จะเริ่มมีการอัพเดตอีกทีในช่วงเช้าวันถัดมา
ช่วงเวลานี้ทุกคนควรพักผ่อนเก็บแรงเอาไว้ดีกว่า 

ในช่วงเวลาตี 5:00 ทางเจ้าหน้าที่มีการประกาศรวมตัวสื่อมวลชน
ภายในเต๊นเพื่อขอประกาศชี้แจงถึงแผนการปฏิบัติในช่วงเช้า
และหารือร่วมกันเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบ 
โดยทางสื่อมวลชนก็ให้ความร่วมมือด้วยการเข้าร่วมฟังแผนการทั้งหมด

แต่ในเวลา 05:30 นั้นเอง ก็ได้มีเสียงระเบิดและเสียงยิงต่อเนื่อง
เกิดขึ้นภายในพื้นที่โรงพยาบาล ในขณะที่ยานพาหนะของเจ้าหน้าที่
และเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจได้บุกเข้าไปยังพื้นที่อย่างรวดเร็ว 
จนแม้แต่สื่อมวลชนก็ยังไม่สามารถตั้งหลักในการเข้าบันทึกเหตุการณ์ได้
อันเนื่องจากสื่อมวลชนทุกเจ้ายังคงรวมตัวอยู่ภายในเต๊น

ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทางเจ้าหน้าที่เลือกชิงจังหวะในช่วงเวลา
ที่ทุกคนเหนื่อยล้าที่สุด และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น 
เข้าจู่โจมอย่างรวดเร็วในทุกช่องทาง ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเฉียบขาด
ทำให้ผู้ก่อเหตุหรือแม้แต่สื่อมวลชนข้างนอกก็ยังไม่ทันได้ตั้งตัว
เสียงยิงและระเบิดที่เกิดขึ้นตามมาด้วยเสียงคำสั่งการของผู้บังคับบัญชา
ชุดจู่โจมที่ดังมาเป็นระยะๆ 

" ไหลๆๆๆๆ...อย่าหยุด ต่อไปๆๆๆ  "


การปฏิบัติการที่รวดเร็วจนคาดการณ์ไม่ได้ กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
ผู้มีความเชี่ยวชาญสังหารอย่างรวดเร็ว หมดโอกาสต่อสู้ขัดขืนแม้จะมีปืน
อยู่เคียงข้างกาย ด้วยประสิทธิภาพของชุดปฏิบัติการ ทำให้ผู้ก่อเหตุ
หมดโอกาสที่จะยิงตอบโต้หรือก่อเหตุใดๆมากไปกว่านี้ได้ 

ชุดปฏิบัติการเข้าเคลียร์พื้นที่ ทีละจุดๆ ไล่จัดการผู้ก่อเหตุทีละคน
มีการยิงตอบโต้มาเป็นระยะๆในพักหลังๆ แต่เสียงก็เริ่มเงียบลงเรื่อยๆ
จากการสื่อสารภายใน พบว่าผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญแล้วทั้งหมด 9 คน
ขาดเพียง 1 คนที่ยังคงตามหาไม่พบ คาดว่ากำลังหลบหนี

และในช่วง 6:15 ผู้ก่อเหตุคนสุดท้ายก็ถูกตรวจพบและถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่
โดยการตรวจพบคือผู้ก่อเหตุเลือกที่จะปลอมตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง 
และหวังว่าจะแทรกซึมออกไปจากพื้นที่ขณะลำเลียงตัวประกัน
แต่พอรู้สึกว่าจะถูกตรวจค้นจึงทำการคว้าอาวุธ เลยถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญดังกล่าว

การปฏิบัติการทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่น มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 8 นาย
ไม่มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บและผู้ก่อเหตุถูกสังหารทั้งหมด 



ทางโฆษกของรัฐบาลได้ประกาศแถลงข่าวแสดงความรับผิดชอบ
ต่อปฏิบัติการในครั้งนี้ในทุกกรณี และยืนยันว่าตัวประกันทุกคนปลอดภัย 
พร้อมกับชี้แจงว่าการตัดสินใจปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการตกลงเห็นชอบร่วมกัน
ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบสถานการณ์นี้ ซึ่งถือเป็นการสั่งปฏิบัติการ
เพื่อให้เห็นว่า เราจะไม่ต่อรองกับผู้ก่อการร้ายทั้งในปัจจุบันและอนาคต

และในช่วงเวลา 07:00 พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แถลงข่าวปิดสถานการณ์การปะทะ 
รวมถึงประสานงานให้ชุดทหารช่างเดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อทำการปลดระเบิด
และเข้าเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยก่อนลำเลียงประชาชนออกจากโรงพยาบาล

และใน 11:30 ถึงมีการเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าพื้นที่ไปรับฟังและบันทึกภาพ
ผลการปฏิบัติและประกาศยุติสถานการณ์อย่างเป็นทางการ



จากการตรวจสอบ สิ่งที่พบเป็นหลักฐานในที่เกิดเหตุประกอบไปด้วย

  1. ศพผู้ก่อการ จำนวน 10 ศพ
  2. ซองกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 8 ซอง
  3. ซองกระสุนปืนอาก้า จำนวน 3 ซอง
  4. ซองกระสุนคาร์บิน จำนวน 1 ซอง
  5. อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 กระบอก
  6. อาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก
  7. อาวุธปืนอาก้า จำนวน 2 กระบอก
  8. กระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 400 นัด
  9. กระสุนปืนอาก้า จำนวน 300 นัด
  10. กระสุนปืนลูกซอง จำนวน 12 นัด
  11. ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67 จำนวน 8 ลูก
  12. ลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 8 ลูก
  13. ชนวนฝักแคพร้อมเชื้อประทุ จำนวน 7 เส้น
  14. ทุ่นระเบิดเอ็ม 18 เอ (เคโม) จำนวน 1 ทุน
  15. อุปกรณ์สนามที่ใช้ในสนามรบ เช่น กระติกสนาม เข็มขัดสนาม
    รองเท้าคอมแบท หมวก ชุดลายพราง แชลง กรรไกรตัดเหล็ก
    และเอกสารภาษากะเหรี่ยง พม่าอีกจำนวนหนึ่ง



 " เกินกว่าเหตุหรือไม่ ? การถล่มของสื่อมวลชนต่อเจ้าหน้าที่หลังเหตุการณ์ยุติ "

หลังเหตุการณ์สงบลง หลายคำถามจากสื่อมวลชนหลายแขนงต่างพุ่งเป้า
ไปถึงชุดปฏิบัติการและผู้รับผิดชอบ ว่าใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นหรือไม่
รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตุมากมายที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ

ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของบาดแผลที่มีร่องรอยถูกยิงที่ศรีษะทั้ง 10 ศพ
รวมถึงเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุได้ประกาศยอมแพ้แล้วตั้งแต่เริ่มปะทะ
แต่ก็ยังไม่พ้นชะตากรรมถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ
อย่างไร้ความปราณี ซึ่งในจุดนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ชี้แจงข้อกังขาเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“ยืนยันว่าไม่มีการยอมจำนน ไม่มีใครบอกว่ายอมจำนนในตอนนั้น" 
ช่วงนั้นก็ถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้วในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์
ช่วงที่ตัดสินใจว่าให้ใช้กำลังก็ประมาณตี 1-ตี 2 ที่คิดว่าต้องใช้กำลัง
เพราะว่า หนึ่ง เราต่อรองกันมานานแล้ว และทั้งหมดก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะอ่อนข้อลงมาเลย ประการที่สอง ถ้าหากรอให้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้นการใช้กำลังเข้าไปจู่โจมก็จะทำไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้คนที่บาดเจ็บ หมอ พยาบาล ก็ผ่านเหตุการณ์มา 24 ช.ม.แล้ว เขาจะเป็นยังไง ผอ.ร.พ. ที่อยู่ด้วยกันในตอนนั้น ก็ยังบอกว่า ช่วยเถอะ…ช่วยทำเถอะ เพราะคนที่ตกเป็นตัวประกันนั้น แย่หมดแล้ว 
 "


การปฏิบัติการด้วยความรุนแรงอาจจะดูแปลกตาสำหรับเมืองที่รักสงบอย่างประเทศไทย
แต่ด้วยสถานการณ์หน้างาน และอะไรหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ควรที่จะสิโรราบ
หรือยอมให้ถูกกดขี่ข่มเหงไปตลอดเช่นเดียวกัน ถึงแม้การกระทำจะกลายเป็นบาป
แต่ก็ถือว่าเป็นบาปที่ทุกคนพร้อมจะน้อมรับมัน เพราะมันคือการทำบาปเพื่อคนร่วมชาติ
เพื่อคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ข้างใน เพื่อประชาชนที่เขาเดือดร้อน เพื่อประเทศชาติ



นอกจากนี้พล.อ.สุรยุทธ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมเพื่อเปิดเผยความในใจว่า


“ส่วนหนึ่งหากจะถามว่าบาปหรือไม่บาป ก็ต้องยอมรับว่า
มันบาป แต่นั่นก็คือบาปที่ทหารต้องยอมรับ เราในฐานะที่เป็นผู้บังคับการเหตุการณ์ก็ต้องทำใจว่านั่นคือบาปที่เราต้องยอมรับ แต่ก็เป็นการทำเพื่อบ้านเมือง เราไม่ได้ทำเพื่อคนหนึ่งคนใด แต่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องยอมบาป ด้วยการใช้กำลังเข้าดำเนินการ

มันง่ายที่จะพูดว่า…น่าจะดูว่ามีใครยอมแพ้บ้าง ไม่ยอมแพ้บ้าง ทำไมต้องใช้วิธีรุนแรงขนาดนี้ วิธีอื่นไม่มีหรือ การพูดแบบนี้มันง่าย แต่อยากจะบอกว่าเวลาเจอสถานการณ์จริงๆ มันไม่เหมือนในหนัง เพราะเสี้ยวเวลาของการตัดสินใจเรื่องคอขาดบาดตายแบบนี้มันมีเวลานิดเดียว”

หากเรามาวิจารณ์ทีหลังมันก็ดูง่าย ฟังง่าย เพราะมันไม่มีแรงกดดันอะไร แต่คนที่ขึ้นไปเขามีความกดดันมหาศาล ไหนจะต้องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น แถมยังต้องเข้าไปให้ใกล้ที่สุดเพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าของตัวเอง กว่าจะถึงจุดนี้ได้ก็เกือบตี 5 จากที่เข้าไปตั้งแต่ตี 2”

“ตอนลงมือในช่วงนั้นหัวหน้าชุดเขาก็ควบคุมกันเอง เขาก็จะถามกันเองว่าข้างบนพร้อมแล้วหรือยัง ข้างล่างพร้อมหรือยัง เราก็ฟังเขาอยู่ ได้ยินเสียงการทำงานตลอด ก็เป็นธรรมดาที่ต้องลุ้น เพราะมีความกังวลว่าจะมีความสูญเสียเกิดขึ้น ทั้งผู้ปฏิบัติงานและตัวประกัน ตอนนั้นก็นึกว่าทำให้ดีที่สุดและพยายามไม่ทำให้ใครบาดเจ็บ”


การปฏิบัติการครั้งนี้นับว่าสร้างความแตกต่างอย่างมากต่อมุมมอง
ของประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่จับตามองท่าที
และการกระทำของประเทศไทยหลังเหตุการณ์ยึดสถานทูตพม่า
ที่จบลงด้วยการประนีประนอม ทำให้เห็นว่าหากบีบคั้นมากๆเข้า
คนไทยก็พร้อมที่จะปะทะ และจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน

หลังจากเหตุการณ์นี้ ทำให้การก่อเหตุในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบ
ที่จะเลือกใช้ความใจดี หรือประนีประนอมของคนไทยในการเอาเปรียบ
หรือข่มเหงชาวไทยด้วยการนำมาใช้เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองในสิ่งที่ต้องการ



ความพ่ายแพ้และล้มเหลวของปฏิบัติการบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี 
ส่งผลเสียอันมหาศาลต่อกลุ่มก๊อดอาร์มี่เช่นเดียวกัน เนื่องจากการสูญเสีย
หัวหน้าชุดผู้ก่อเหตุซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรชั้นเยี่ยมของกลุ่มก๊อดอาร์มี่
ทำให้สูญเสียกำลังใจ และประสิทธิภาพในการสู้รบก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆนับจากนั้น

และมีข่าวลือว่า ... กลุ่มก๊อดอาร์มี่หลังจากเกิดเหตุได้เพียงไม่กี่สัปดาห์
ก็ถูกโจมตีโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย รวมไปถึงโดนกองทัพพม่าร่วมกัน
ปราบปรามอย่างจริงจัง จนทำให้วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 เพียง 1 ปี
หลังเหตุการณ์ก๊อดอาร์มี่บุกโรงพยาบาลราชบุรี เด็กฝาแฝดผู้นำกลุ่ม
ลูเธอร์และจอห์นนี่ ทู พร้อมลูกน้องทั้ง 27 คนได้ขอเข้ามอบตัว
ต่อทางการไทยเป็นการปิดฉากกลุ่มก๊อดอาร์มี่ เป็นการถาวร .... 

และนี่ก็คือเรื่องราวความกล้าหาญ เด็ดขาด ไม่ยอมแพ้ต่อการกดขี่
ของผู้ไม่หวังดีที่จะเข้ามาข่มเหงและรังแกประชาชนชาวไทยที่รักสงบ
ผู้ที่เลือกสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง เลือกอ่อนโยนดีกว่าแข็งกร้าว
แต่ถ้าหากมีใครเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนไทย พวกเขาก็จะได้ค้นพบกับ
ความน่ากลัวและเด็ดขาดของคนไทย ดังหนึ่งในคำกล่าวของเพลงชาติไทย
ที่เราเคารพและขับร้องกันอย่างภาคภูมิใจว่า 

" ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ "

ที่มา : BLOODY CLIMAX TO THAI HOSPITAL SIEGE
BY MYANMAR MILITANTS
ที่มา : 'ก็อดอาร์มี่'แหกกฎพระเจ้ายึด รพ.ราชบุรี
ที่มา : พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี
ที่มา : ราชบุรีศึกษา บันทึกเหตุการณ์สำคัญ : ก๊อดอามี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
ที่มา : ย้อน17ปีคดีดัง“ก๊อดส์อาร์มี่” พล.อ.สุรยุทธ์ หนักแน่น“เป็นบาปที่ทหารต้องรับ”  
ที่มา : ข่าวดังข้ามเวลา : สงครามชีวิต ก๊อดอาร์มี่ ตอน 1 [4 พ.ค.58]
ที่มา : ข่าวดังข้ามเวลา : สงครามชีวิต ก๊อดอาร์มี่ ตอน 2 [11 พ.ค.58]
ที่มา : ก๊อตอามี่ | เรื่องจริงผ่านจอ 7 กันยายน 2560


ผู้เขียน / เรียบเรียง : Ronnakrit " Viking " Sripumma 
เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่