รวมอันดับ 6 อาวุธทำลายล้างสูงที่น่ากลัวที่สุด ที่ถูกนำมาใช้ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 Valor Tactical

สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1914
กองทัพของทั้งสองฝั่งก็ได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่โลกนี้ไม่เคยเห็นเข้ามาใช้ในสงคราม

อนุภาคการทำลายล้างและความสยดสยองที่เกิดขึ้น
เพราะอาวุธใหม่เหล่านี้มันน่ากลัวมากเสียจนบางส่วน
ของสถานที่ที่มีการใช้งานอาวุธใหม่ๆนี้ ผู้คนยังไม่สามารถ
เข้าไปอยู่อาศัยได้จนถึงปัจจุบัน

สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามครั้งแรกที่โลกของเรา
ได้เผชิญกับการเห็นเครื่องบินติดอาวุธ รถถัง และปืนกล
เข้ามาใช้ในสงครามเต็มรูปแบบ และยังมีอาวุธบางชนิด
ที่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงสงครามก็น่ากลัวเกินคณานับ
 
และนี่คือ 6 อันดับอาวุธทำลายล้างสูงที่น่ากลัวที่สุด
ที่ถูกนำมาใช้ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1

 



1. ปืนพ่นไฟ (Flamethrower)

ความคิดที่ว่าจะเผาศัตรูให้ไหม้เป็นจุลนั้น
เป็นความคิดที่มีอยู่ในใจผู้ที่ทำสงคราม
มาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนกว่า ปี ค.ศ.1915
เยอรมันจึงเป็นชาติแรกที่สามารถผลิตปืนพ่นไฟ
สำหรับบุคคลได้สำเร็จเป็นชาติแรก
และมันได้ถูกนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย

ปืนพ่นไฟนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากในการรบ
และเป็นฝันร้ายต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเช่นเดียวกัน
เพราะในวินาทีที่ปืนพ่นไฟถูกใช้งาน แม้ว่าทหาร
จะแอบอยู่บนบังเกอร์หรือสนามเพลาะที่แน่นหนาแค่ไหน
ก็จะถูกเปลวเพลิงจากปืนพ่นไฟนั้นเผาไหม้แทบตายทั้งเป็น
หรือหากใครก็ตามที่วิ่งหนีออกมาก็จะถูกระดมยิง
โดนเหล่าทหารที่รออยู่ภายนอก

ธรรมชาติอันน่าโหดร้ายของปืนพ่นไฟ คือ
ผู้ใดก็ตามที่แบกอาวุธนี้ไว้ก็มักจะกลายเป็นเป้าสังหาร
แค่เพียงศัตรูฝ่ายตรงข้ามสังเกตุเห็นการมาของพลปืนพ่นไฟ
ผู้โชคร้ายคนนั้นก็จะตกเป็นเป้าของกระสุนปืนทันที
และหากถูกจับเป็นเชลย ก็มักจะลงเอยด้วยการถูกประหารชีวิต
เนื่องจากความโหดร้ายทารุณที่ผู้ใช้งานกระทำไว้

แต่ฝ่ายสหราชอาณาจักรใช้ปืนพ่นไฟในวิธีที่แตกต่างออกไป
จากฝ่ายเยอรมัน โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรได้พัฒนาเครื่องพ่นไฟ
ที่เรียกว่า Livens Large Gallery Flame Projector
ซึ่งเป็นเครื่องพ่นไฟที่ตั้งอยู่กับที่ ถูกวางอยู่ในแนวสนามเพลาะอันยาวเหยียด
หันออกไปทางแนวรบ โดยหัวฉีดจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นและพ่นกำแพงเปลวเพลิง
เป็นระยะ 300 ฟุต (274.32 เมตร) สู่ทิศทางการบุกของศัตรู

อาวุธของฝ่ายสหราชอาณาจักรนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ในการใช้ในการรบทีซอมม์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1916
เมื่ออาวุธชิ้นนี้สามารถทำลายล้างส่วนหนึ่งของแนวรบเยอรมันได้
ทำให้ทหารของฝ่ายสหราชอาณาจักรสามารถบุกและเข้ายึดเศษซาก
ที่เหลืออยู่ได้อย่างง่ายดาย



2. มีดสนามเพลาะ Trench knife

ถึงแม้จะเป็นยุคที่รบกันด้วยอาวุธปืนแล้วก็ตาม
การต่อสู้ด้วยมือระยะประชิดยังเป็นสิ่งที่พบเห็นในสงคราม

อย่างไรก็ตามด้วยการที่สงครามโลกครั้งที่ 1
เป็นการรบกันด้วยสนามเพลาะ อาวุธประเภทใหม่
จึงจำเป็นเพื่อใช้ในการต่อสู้ระยะประชิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นี่จึงเป็นที่มาของมีดสนามเพลาะ

มีดอันน่ากลัวเล่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา
โดยใช้ชื่อว่ามีด M1917 มีดเล่มนี้เป็นมีดสนามเพลาะเล่มแรก
ของสหรัฐอเมริกา เป็นการผสมผสานอาวุธที่ไว้ใช้สังหารศัตรู
ไว้ถึง 3 ชนิดด้วยกัน ด้ามมีดของมีดเล่มนี้เป็นทรงสามเหลี่ยม
ซึ่งนั้นหมายถึงการที่มีดเล่มนี้สามารถใช้ในการแทงได้อย่างเดียวเท่านั้น
และยังก่อให้เกิดบาดแผลที่เหวอะหวะอีกด้วย

แผลที่ถูกแทงด้วยด้ามมีดทรงสามเหลี่ยมนั้นโหดร้ายมาก
จนต้องมีการห้ามไม่ให้ใช้อาวุธประเภทนี้ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949
เพราะมันก่อให้เกิดความทรมานอันแสนสาหัสต่อผู้ถูกกระทำ

ด้ามจับของมีดเล่มนี้ยังเป็นสนับมือที่มีหนาม
เพื่อให้การออกหมัดในการต่อสู้มีอานุภาพที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น

และท้ายสุด มีดเล่มนี้มี "ตัวบดกะโหลก"ติดอยู่ที่ด้านใต้ด้ามจับของมีด
เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้มันในการทุบกะโหลกศีรษะของศัตรู

มีดเล่มนี้ยังมีการพัฒนาต่อจนกลายเป็นมีด Mark 1 Trench Knife
ในปี ค.ศ. 1918 แต่ได้ถูกนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2


3. กระบองจู่โจม Trench Raiding Clubs

มีดสนามเพลาะนั้นเป็นหนึ่งในอาวุธอีกหลายแบบที่ฝ่ายพันธมิตร
ได้พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามเพื่อนำมาใช้ในการบุกจู่โจมสนามเพลาะ
แบบฉับพลัน

การบุกจู่โจมสนามเพลาะแบบฉับพลันคือกลยุทธ์ทางทหาร
ที่ประกอบไปด้วยการเคลื่อนที่เข้าหาสนามเพลาะของศัตรูอย่างเงียบเชียบ
ฆ่าใครก็ตามที่อยู่ในสายตา จับเชลยกลับมาเท่าที่จำเป็น
วางระเบิดใส่บังเกอร์หลุมหลบภัยของศัตรู และรีบถอนตัวกลับสนามเพลาะ
ของฝ่ายตนเองก่อนที่ศัตรูจะรู้ว่าได้เจอดีเข้าแล้ว

เพราะการใช้อาวุธปืนไรเฟิลก่อให้เกิดเสียงดัง กระบองจู่โจมจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมา
โดยถึงแม้กระบองจู่โจมนี้จะไม่ได้มีการออกแบบที่เป็นมาตรฐานเฉพาะเจาะจง
แต่การผลิตมันขึ้นมาก็มีทั้งที่อ้างอิงมาจากกระบองและคฑาที่ใช้ในสมัยยุคกลาง
ของยุโรปและมีทั้งการนำอะไรก็ตามที่มีเหลืออยู่รอบตัว มาติดอยู่บนตัวกระบอง
เช่น ตะปู รั้วลวดหนาว หรือแม้แต่เศษเหล็กที่หาได้ทั่วไปมาประกอบใช้กับอาวุธ
เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายสูงสุด


อนุภาพของปืนลูกซอง M1897 Trench gun นั้นรุนแรง
จนมีการประท้วงในการใช้มันในสนามรบเลยทีเดียว

4. ปืนลูกซอง Shotgun

เมื่อทหารอเมริกันได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
ที่แนวรบด้านตะวันตก พวกเขาได้นำอาวุธชนิดใหม่เข้ามา
ที่จะทำให้ทหารเยอรมันต้องขวัญผวา มันคือปืนลูกซอง
จริงๆแล้วทางกองทัพสหรัฐได้นำปืนลูกซองหลายแบบมาใช้ในสงคราม
แต่ปืนลูกซองที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายที่สุด คือปืนวินเชสเตอร์
โมเดล M1897 ปืนลูกซองสนามเพลาะ
ซึ่งปืนรุ่นนี้เป็นปืนที่ดัดแปลงมาจาก ปืนวินเชสเตอร์ โมเดล 1897
โดยลดขนาดความยาวลำกล้องเหลือ 20 นิ้ว
มีด้ามกันความร้อน และมีช่องใส่ดาบปลายปืน

ปืนลูกซองรุ่นนี้ สามารถบรรจุกระสุนลูกซองได้ 6 นัด
โดยในแต่ละนัดจะมีลูกปรายขนาด 00 (.33 คาลิเบอร์)
อยู่ภายในมันมีประสิทธิภาพในการใช้ในสนามเพลาะเป็นอย่างมาก
จนทหารอเมริกันขนานนามให้กับมันว่า
"ตัวเก็บกวาดแห่งสนามเพลาะ" หรือ "ไม้กวาดแห่งสนามเพลาะ"

แต่ฝ่ายเยอรมันนั้น ไม่ได้มีความยินดีที่จะต้องเผชิญกับอาวุธชนิดนี้
ในสนามรบเลย ปืนลูกซองนั้นมีประสิทธิภาพมาก
เสียจนทางฝั่งเยอรมันต้องประท้วงทางการฑูต
ในการใช้ปืนลูกซองในสนามรบ ทางเยอรมันโต้แย้งว่าปืนลูกซอง
ไม่ควรถูกใช้ในสนามรบและขู่ที่จะลงโทษอเมริกันคนไหนก็ตาม
ที่ถูกจับกุมในขณะใช้ปืนลูกซอง

ทางสหรัฐอเมริกาปฏิเสธคำเรียกร้องของเยอรมัน
และขู่ที่จะตามล้างแค้นการลงโทษใดๆก็ตามที่กระทำต่อทหารอเมริกัน



สภาพของสนามเพลาะฝ่ายสหราชอาณาจักรภายหลังจากการถูกโจมตีด้วยก๊าซพิษ
โดยฝ่ายเยอรมัน (คาดว่าน่าจะเป็นก๊าซพิษฟอสจีน)

ในการรบที่ฟรอแมล 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1916

5. ก๊าซพิษ Poison Gas

แน่นอนว่าหนึ่งในอาวุธที่น่ากลัวที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1
ต้องรวมก๊าซพิษเข้าไปด้วย เพราะก๊าซพิษคือนิยามของอาวุธอันโหดร้าย
โดยชนิดของก๊าซพิษที่นิยมใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นด้วยกันสามชนิด

คือ 1. คลอรีน 2. ฟอสจีน และ 3. มัสตาร์ด

การโจมตีด้วยการใช้ก๊าซพิษเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1915
ที่การรบที่เมืองอิสปร์ โดยเป็นฝ่ายเยอรมันที่ใช้ในการโจมตีกองกำลังฝรั่งเศส
ซึ่งหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ได้พัฒนาอาวุธก๊าซเคมีของตนเองขึ้นมา
เพื่อนำมาตอบโต้ใช้ในสงคราม

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการใช้ก๊าซพิษนั้น ไม่ใช่เพื่อการสังหารศัตรู
ถึงแม้มันจะสามารถทำได้ก็ตาม แต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้บาดเจ็บ
ของฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมากหรือทำการปนเปื้อนตำแหน่งของฝ่ายศัตรู
เพื่อเป็นการกดดันให้ฝ่ายศัตรูต้องถอนตัวออกจากพื้นที่

ก๊าซพิษนั้นยังก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านระหว่างทหารกันเอง
เนื่องมาจากอาการหายใจไม่ออกหรือตาบอดชั่วครู่
ที่ทำให้ทหารต่างขวัญผวาและหนีออกจากตำแหน่ง
แต่ก๊าซมัสตาร์ดนั้นโหดร้ายกว่าแก็ซพิษประเภทอื่น
เนื่องมาจากการที่อาการของผู้ที่สัมผัสกับก๊าซจะหายใจไม่ออก
หรือตาบอดชั่วครู่แล้วยังเผาไหม้ผิวหนัง ก่อให้เกิดผื่นขนาดใหญ่ที่น่ากลัวอีกด้วย



การระดมยิงปืนใหญ่ขนาด 8 นิ้ว ของ กรมปืนใหญ่แห่งสหราชอาณาจักรที่ 39
ขณะกำลีงยิงปืนใหญ่บริเวณหุบเขา ฟริคูรท์ มาเมท์ ในการรบที่ซอมม์ ปี ค.ศ. 1916

6. ปืนใหญ่ Artillery

ถึงแม้ว่าปืนใหญ่จะได้มีการใช้งานในสนามรบมาเป็นร้อยปีแล้ว
ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ความเสียหายก็เทียบกันไม่ได้เลย
หากเอาการต่อสู้ในสมรภูมิสมัยก่อนมาเทียบกับยุคสงครามโลก
นั่นก็เพราะ ...

- นี่คือครั้งแรกที่มีการนำปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
นำมาใช้ในการทำสงครามโลกครั้งที่ 1

- เพราะในประวัติศาสตร์การรบ ยังไม่เคยพบกับ
การระดมยิงปืนใหญ่ที่หนาแน่นขนาดนี้มาก่อน

ลูกกระสุนปืนใหญ่ที่มีการระดมยิงเป็นกลุ่ม
สร้างความเสียหายที่ใหญ่หลวงมากเสียจนทำให้หน้าดินของบริเวณ
ที่มีการสู้รบนั้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มันก่อให้เกิดหลุมบ่อ
เป็นจำนวนมากจนทำให้กระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมาภายหลัง
บางครั้งก็ไม่ระเบิดและฝังตัวอยู่ในดิน การถล่มยิงปืนใหญ่นั้น
สามารถทำลายสนามเพลาะและฝั่งคนทั้งเป็นได้อย่างง่ายดาย

การยิงถล่มด้วยปืนใหญในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นมีประสิทธิภาพมาก
จนได้มีการคิดค้นศัพท์คำว่า Shell Shock ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบาย
อาการของผู้ที่มีชีวิตรอดจากการถูกถล่มด้วยปืนใหญ่
แต่มีอาการตื่นกลัวกับเสียงและการยิงถล่มของปืนใหญ่

และการสร้างความเสียหายโดยใช้ปืนใหญ่ ก็นับว่ายังคงมีประสิทธิภาพ
มากซะจนยังคงมีการใช้ปืนใหญ่ในการสู้รบมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ที่มา
https://www.wearethemighty.com/articles/the-6-most-terrifying-weapons-of-world-war-i

เขียนโดย เจมส์ เอลฟิก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563
แปลโดย เทอดพงษ์ ฉายะรถี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563
เรียบเรียงโดย รณกฤต ศรีพุมมา เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all