เรื่องราวของเครื่องบิน AC-47 ฝันร้ายของชาวเวียดนามในอดีต สู่จุดกำเนิดของ AC-130 Gunship ที่โด่งดัง Valor Tactical

นี่คือตำนานเทวฑูตจากเบื้องบนที่เป็นรุ่นพ่อของ AC-130 ...

เครื่องบิน C-47 นั้นมีบทบาทที่หลากหลายในสงครามโลกครั้งที่ 2
ไปจนถึงยุคสงครามเกาหลี เป็นทั้งเครื่องบินที่บรรทุกเสบียงยุทโธปกรณ์
ขนส่งพลร่มลงพื้นที่ของข้าศึกและเป็นเครื่องบินลากจูงเครื่องร่อน



แต่ก็ในยุคสงครามเวียดนามนี่แหละ ที่เจ้านกยักษ์ลำนี้จะได้รับภารกิจอันใหญ่หลวง
โดยเป็นการขึ้นบินด้วยปืนมินิกัน 3 กระบอกที่ยิงกระสุนขนาด 7.62 มม.
ผ่านค่ำคืนอันมืดมิดเพื่อทำลายล้างกองกำลังของทหารเวียดเหนือและเวียดกง



ไอเดียความคิดในการมีเครื่องบินยิงสนับสนุนสำหรับกองกำลังทางภาคพื้นดิน
มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 ซึ่งที่จริงแล้ว เทคนิคนี้ได้มีการทดลองและพิสูจน์แล้ว
ว่าสามารถใช้ได้จริงในปี ค.ศ. 1927 เมื่อร้อยโทเฟรด เนลสัน
ของกองบินของกองทัพบกสหรัฐ ได้ทำการบังคับเครื่องบินรุ่น DH-4
ที่ติดตั้งปืนกลขนาด .30 และทำลายเป้าหมายที่อยู่บนภาคพื้นดิน



แต่กองบินของกองทัพบกสหรัฐก็ไม่เคยได้นำไอเดียนี้มาประยุกต์ใช้งานอย่างจริงจัง

จนมาถึงปี ค.ศ.1963 ที่ไอเดียของการมีเครื่องบินที่มีอาวุธยิงด้านข้าง
จะถูกนำมาทดลองอย่างจริงจังอีกครั้ง เครื่องบินรุ่น C3-131B ที่ได้มีการดัดแปลง
นำศูนย์เล็งและปืนมินิกัน 1 กระบอกมาติด ประสบความสำเร็จในการทดลองเบื้องต้น
และได้มีการทำลองซ้ำกับเครื่องบินรุ่น C-47

กองทัพอากาศสหรัฐได้มีการนำเครื่องบิน AC-47 Dragon
มาบินในภารกิจเหนือน่านฟ้าของประเทศเวียดนามใต้
ในการสนับสนุนฐานปฏิบัติการของกองทัพฝ่ายพันธมิตรในสงครามเวียดนาม

เครื่องบิน C-47 สามารถปฏิบัติภารกิจได้ยอดเยี่ยม
จนในที่สุดผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศของกองทัพสหรัฐในขณะนั้น
พลอากาศเอกเคอร์ติส เลอเมย์ ได้มีการอนุมัติในการนำเครื่องบิน
รุ่น C-47 ทั้งหมด 2 ลำ มาดัดแปลง



แบบภายในเครื่องบินของ C-47 ที่ลงเอยมาเป็น AC- 47
จะเป็นการนำส่วนบรรทุกสินค้ามาดัดแปลง
ใส่ปืนมินิกันขนาด 7.62 มม. 3 กระบอก ติดบริเวณด้านซ้ายของเครื่องบิน
มีการเจาะรูทำเป็นช่อง 2 ช่องเพื่อติดปืนมินิกัน 2 กระบอก
และใช้ประตูที่มีอยู่เดิมเป็นช่องติดปืนมินิกัน อีก 1 กระบอก
ไกปืนของปืนมินิกันทั้ง 3 กระบอกจะเชื่อมต่อเข้ากับปุ่มกดที่อยู่ด้านในห้องนักบิน

นักบินของเครื่องบิน AC-47
จะนำเครื่องบินทะยานขึ้นฟ้าด้วยลูกเรือทั้งหมด 7 นาย
และเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการขนาดเล็กและหมู่บ้านต่างๆ
ที่ถูกโจมตีโดยกองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกง

 

การโจมตีทางอากาศตอนกลางคืนของเครื่องบิน AC-47D Spooky gunship
เหนือน่านฟ้าเมืองไซง่อนในปี ค.ศ.1968

เมื่อถึงที่หมายบริเวณที่มีการยิงต่อสู้เกิดขึ้น
ลูกเรือจะทำการทิ้งพลุสว่างออกจากประตูเครื่องที่เปิดอยู่
และนักบินจะบินวงเป็นวงกลม
และทำการถล่มเป้าหมายด้วยกระสุนตลอดระยะเวลาที่ทำการบินวน

การโจมตีของเครื่องบิน AC-47D Spooky gunship ของกองทัพอากาศสหรัฐ
บนน่านฟ้าของฐานบัญชาการของกองกำลัง MACV 
(Military Assistance Command, Vietnam)
ทีม 21 ที่เพลกู ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1969
จะเห็นได้จากรูปที่แสดงให้เห็นถึงวิถีกระสุนส่องวิถีที่ถูกยิงออกมาจากเครื่องบิน

หากภัยคุกคามนั้นเกินกว่าที่เครื่องบิน AC-47 จะรับมือไหว
ลูกเรือก็จะทำการทิ้งพลุระบุเป้าหมาย เพื่อที่เครื่องบินรบ
ที่จะมาทำการสนับสนุนสามารถมองเห็นเป้าหมาย
และทำการโจมตีศัตรูได้ทันที และเครื่องบิน AC-47
ก็จะยังคงบินวนในพื้นที่เพื่อทำการกำกับการโจมตี
ของเครื่องบินรบที่เข้ามาสนับสนุน

มีหลายครั้งที่นักบินและลูกเรือของเครื่องบิน AC-47 มีวีรกรรมที่กล้าหาญ
โดยหนึ่งในนั้นคือ จ่าอากาศตรี จอห์น แอล เลวิโทว์
ซึ่งจอห์นได้อยู่บนเครื่องบิน AC-47 ลำที่โดนยิงโดยกระสุนปืนครก

จ่าอากาศตรี จอห์น แอล เลวิโทว์ ได้รับเหรียญกล้าหาญ Medal of Honor

โดยถึงแม้ตัวของจอห์นจะถูกสะเก็ดระเบิดกว่า 40 ชิ้นพุ่งใส่และฝังกระจายรอบตัว
จอห์นก็สังเกตุเห็นว่า มันมีพลุ ที่ถูกจุดขึนโดยหนึ่งในลูกเรือบนเครื่องบิน
กลิ้งไปมาอยู่ภายในเครื่องบิน

ถึงแม้พลุจะยังไม่จุดประกายอย่างเต็มที่ แต่มันก็เป็นเพียงเวลาเพียงไม่นาน
ก่อนที่มันจะจุดประกาย 
ซึ่งหากเจ้าพลุตัวนี้ถูกจุดประกายขึ้นมา 
พลุนี้อาจจะฆ่าลูกเรือและอาจทำให้กระสุนที่อยูภายในเครื่องบินเกิดระเบิดขึ้น
จอห์นจึงคลานไปยังพลุที่กลิ้งไปมาแล้วจึงคว้าไว้ด้วยร่างกาย
ที่เต็มไปด้วยบาดแผลของเขา
แล้วจึงขยับเคลื่่อนที่ไปยังประตูของเครื่องบิน

จอห์นสามารถโยนมันออกได้ก่อนที่พลุจะจุดประกายขึ้นได้อย่างทันท่วงที


เครื่องบิน AC-47 ที่ได้รับสมญานามว่า "เจ้าพัฟ มังกรมหัศจรรย์"
จากผู้คนที่ได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของมัน
มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก จนกองทัพอากาศเห็นศักยภาพ
และได้ทำการเริ่มทดลองโครงการ Gunship II
ซึ่งโครงการนี้ได้กลายเป็นเครื่องบิน AC-130 ในปัจจุบัน

เครื่องบิน AC-130 และภายในของเครื่องบิน

จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มอำนาจการยิงที่มากกว่าเดิมใน AC-47 หลายเท่า
ซึ่งมีปืนแกตลิง ใช้ขนาดกระสุน 25 มม. 1 กระบอก
ปืนโบฟอร์ ใช้ขนาดกระสุน 40 มม. 1 กระบอก
และปืนใหญ่ ใช้ขนาดกระสุน 105 มม. 1 กระบอก

ในปัจจุบัน อำนาจการยิงสนับสนุนจากทางอากาศ
ช่วยสร้างความยำเกรงให้แก่ข้าศึก และยังช่วย
เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ภาคสนาม
ในทุกสมรภูมิสำคัญของโลกในปัจจุบัน

--------------------------------------------------
เขียนโดย เทอดพงษ์ ฉายะรถี เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2020

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่