" พลังเงียบ เฉียบขาด " ถอดรหัสเทคนิคการต่อสู้ระยะประชิด CQB โดยอดีต Delta Forces Valor Tactical

ไม่ว่าคุณจะรู้จักชื่อเรียกของการต่อสู้ระยะประชิด
ในชื่อเรียกว่า Close Quarters Battle ( CQB ) 
หรือ Close Quarters Combat ( CQC ) ก็ตาม

ในความเชื่อของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษระดับแนวหน้าของโลก
พวกเขาพูดกันติดปากขำๆว่า CQB/CQC มักประกอบไปด้วย
กึ๋นหรือความกล้าของตัวผู้ปฏิบัติ 75% และเทคนิคเพียง 25% เท่านั้น

แท้จริงแล้วการต่อสู้ระยะประชิดนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่มีความยาก
และท้าทายจิตใจของผู้ปฏิบัติมากที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์การสู้รบ
ของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ เพราะมันต้องใช้การควบคุมตัวเอง
และการต่อสู้กับความกลัวในจิตใจของตัวเองเป็นอย่างมากในการเข้าเผชิญเหตุ

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


หากคุณมองเพียงคลิปวีดีโอและเห็นอะไรก็ตามที่ " ดูเหมือน "
จะเป็นท่าทางการฝึก CQB และรู้สึกว่ามันดูง่ายดาย ดูเท่ห์
ดูแล้วไม่น่าจะใช้เวลานานในการฝึกฝน ผมขอบอกเลยว่านั่นเป็นเพราะ
คุณยังไม่รู้จักโลกของ CQB ได้ดีพอนั่นเอง ...

ทำไมถึงบอกว่า CQB ประกอบไปด้วยกึ๋น หรือความกล้าของผู้ปฏิบัติ
มากถึง 75% ผมขอตอบง่ายๆเลยว่า ... ถ้าหากคุณสามารถตามหาคนที่
สามารถแบกอาวุธปืน AR-15 และบุกเข้าไปในห้องได้ทันที
โดยที่ไม่มีข้อมูลในหัวมาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ , สถานการณ์ในพื้นที่
จำนวนของผู้ร้าย , อาวุธและขีดความสามารถของผู้ร้าย และยังมีความกล้า
ที่จะบุกเข้าไปทั้งๆที่รู้ว่าข้างในห้องนั้นมีคนที่ถือปืนจริงๆและกระสุนจริงๆ
ที่พร้อมจะฆ่าคุณจริงๆอยู่ในนั้น ถ้าคุณมีบุคคลคนกลุ่มนั้นอยู่ในมือ
นั่นก็ถือว่าคุณมีกำลังพลที่มีความเข้าใจใน 75%
ของศาสตร์แห่งการต่อสู้ระยะประชิดเรียบร้อยแล้ว

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


หลังจากนั้นค่อยไปพัฒนาเทคนิคต่างๆที่จำเป็นอีก 25% ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค
การเคลื่อนที่ , ใช้ที่กำบัง ไปจนถึงเรื่องอื่นๆที่ต้องรู้เพิ่มเติม
มันฟังดูง่ายใช่ไหมละ ? แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใกล้เคียงกับคำนั้นเลย

หากจะปลุกปั้นกลุ่มคนที่มีความพร้อมและเชี่ยวชาญ
ในศาสตร์แห่งการต่อสู้ระยะประชิดจริงๆมาซักคนหนึ่ง หรือซักทีมหนึ่ง
มันจะต้องมีมากกว่าแค่เทคนิคการต่อสู้ในการสร้างคนพวกนี้ขึ้นมา

ซึ่งคนพวกนี้ไม่ใช่แค่พวกที่จะพูดเวลาเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ว่า
" ผมจะลองเข้าไป " แต่เป็นพวกที่ " ผมพร้อมที่จะเข้าไปข้างใน "
และพร้อมที่จะทำสิ่งนั้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ไม่ว่าจะกี่ครั้งหรือผ่านไปกี่ปีก็ตาม ...

เจ้าของบทความเคยมีโอกาสได้สนทนากับหนึ่งในหัวหน้าทีม Delta คนหนึ่ง
ที่เขาสูญเสียเพื่อนร่วมทีมระดับ Senior และเด็กใหม่ในทีมไปพร้อมๆกัน
ในเหตุการณ์เดียว ถูกสังหารโดยผู้ยิงคนเดียวกัน ในห้องเดียวกันที่สมรภูมิอิรัก



คนคนนั้นคืออดีตหัวหน้าทีม MSG Rebert Horrigan และ Msg Michael L McNulty
พวกเขาถูกยิงเข้าที่ศรีษะ จากการยิงหลังที่กำบังแบบสาดมั่วๆของผู้ก่อการร้าย

ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับเพื่อนร่วมทีมระดับ Senior คนนั้น
เพราะในช่วงเวลานั้นควรจะเป็นการเคลียร์ห้องสุดท้ายในอาคารสุดท้าย
ของภารกิจการต่อสู้ครั้งสุดท้าย สำหรับการปฏิบัติการนอกประเทศครั้งสุดท้าย
ในชีวิตราชการของเขา ซึ่งนั่นควรจะเป็นภารกิจอำลาชีวิตราชการของเขา
ไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายจนนำไปสู่การเสียสละชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

แม้แต่ระดับผู้เชี่ยวชาญก็ยังมีโอกาสพลาดได้ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้
การต่อสู้ระยะประชิดอย่าง CQB/CQC คือหนึ่งในศาสตร์ที่ดูเหมือนจะง่าย
แต่กลับฝึกฝนยากที่สุดอย่างหนึ่งในการสู้รบ



และในวันนี้เราจะมาแชร์หลักการ ( Principle ) ของการต่อสู้ระยะประชิด
ซึ่งได้รับการถ่ายทอดโดยตรงมาจากอดีตเจ้าหน้าที่ Delta Forces 
ที่มีชื่อว่า GEORGE E. HAND IV ซึ่งเขาได้กล่าวว่าหลักการที่จะพูดต่อจากนี้
ไม่ใช่ไอเดียของเขาคนเดียว แต่ว่ามันเป็นความรู้ที่ถูกแลกมาด้วยเลือด
และชีวิตของการปฏิบัติภารกิจจริงของสหายร่วมรบจากทุกสมรภูมิในโลกใบนี้ ..

แท้จริงแล้ว CQB / CQC มันคืออะไรกันแน่ ? มันมีสูตรสำเร็จตายตัวไหม ?
สิ่งที่กำลังจะบอกต่อจากนี้ มันไม่ใช่กฏบังคับ มันไม่ใช่คำสั่งที่ต้องทำตาม
มันเป็นเพียงหลักการ และคำแนะนำที่ควรนำไปปรับใช้เท่านั้น และที่เหลือ
ให้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ , การฝึกซ้อม และโจทย์การฝึกนับหมื่นๆครั้ง
ที่เราจะต้องผิดพลาด , เรียนรู้ และแก้ไขมัน เพื่อที่เราจะไม่มีคำว่าผิดพลาด
ในตอนที่เราปฏิบัติภารกิจจริง 

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ นั่นคือ CQB ไม่ใช่การป้องกันตัว ไม่ใช่เทคนิคการป้องกัน
มันคือเทคนิคในการต่อสู้ คือการบุกเข้าไปหาอันตราย ไม่ใช่ป้องกันตัวจากอันตราย
ก่อนที่จะมีคำว่า CQB มันเคยมีคำเรียกแบบง่ายๆว่า การบุกโจมตี ( Raids )

และในศาสตร์ของการบุกโจมตี จะมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างที่สำคัญมากๆ
นั่นก็คือ ... Surprise , Speed , Violence of action 

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


Surprise : คือการบุกโจมตีให้รวดเร็วโดยไม่ทันได้ตั้งตัว
มันคือการสร้างความได้เปรียบในขณะที่ข้าศึกยังไม่ทันได้เตรียมตัว
การที่จะเข้าใจอาวุธที่มีชื่อว่า Surprise นั้น จะต้องเข้าใจว่า
มันคือผลลัพธ์ของความเงียบ การซ่อนพรางที่ดี
และเทคนิคในการใช้ความเงียบให้ดีที่สุด ซึ่งความเงียบในการปฏิบัติงาน
คือผลลัพธ์จากการที่เราลดปัจจัยที่เกิดจากเสียงและแสงขณะเคลื่อนที่
ให้น้่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนการเปิดฉากโจมตีเป้าหมาย

Speed : คือความรวดเร็วขณะปฏิบัติงาน เมื่อเราสร้าง Surprise ได้แล้ว
สิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือการทำยังไงก็ได้ไม่ให้ข้าศึกมีเวลาในการตั้งตัว
ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะที่ทำอะไรไม่ได้ และกลายเป็นฝ่ายเรา
ที่ควบคุมสถานการณ์และสร้างแรงกดดันต่อเนื่องจนภารกิจเสร็จสิ้น

นั่นคือเหตุผลที่ว่า เมื่อมีการสั่งปฏิบัติการ ทุกอย่างจะต้องรวดเร็ว
เฉียบขาด และต้องทำต่อไปจนกว่าจะจบ แม้ว่าจะมีความผิดพลาด
หรือการสูญเสียเกิดขึ้นในวินาทีนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้จบ
ทำให้การสู้รบเสร็จสิ้นให้ได้ และค่อยมาว่ากันต่อที่การช่วยเหลือ
หรือการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ

Violence of Action : คือความรุนแรงและความเฉียบขาดในการปฏิบัติการ
นั่นหมายถึง ในวินาทีนั้นจะต้องไม่มีความลังเลเกิดขึ้นในจิตใจ 
ถ้าถึงจุดที่ต้องเข้า ... คุณต้องเข้า ถ้าถึงจุดที่ต้องแลก ... คุณต้องแลก
อะไรที่ทำให้คุณลังเลหรือไม่มั่นใจ หรือทำให้เกิดอันตรายต่อเพื่อนร่วมทีม
คุณต้องกำจัดทิ้ง แม้ว่ามันจะผิดมนุษยธรรมมากแค่ไหนก็ตาม

มันคือปัจจัยที่จะทำให้ข้าศึกพ่ายแพ้ต่อคุณโดยสมบุรณ์
ลดโอกาสที่คุณจะตกเป็นเป้าหมาย ลดความเสี่ยงที่จะทำให้คุณ
หรือเพื่อนร่วมทีมของคุณล้มเหลว นั่นคือสิ่งที่จะต้องตามมา
ควบคู่กับความรวดเร็วและการสร้าง Surprise ในการบุกโจมตี

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


นอกเหนือจากหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ ของการ Raid หรือยุคหลังๆ
เราจะเรียกมันว่า CQB แล้วก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่
เน้นย้ำให้ใส่ใจทุกครั้งในทุกการปฏิบัติภารกิจ
นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Maintain 360 Degree Security หรือให้แปลตรงๆ
ก็คือการรักษาแนวปลอดภัยในทุกองศาการเคลื่อนที่ 

เพราะในการปฏิบัติงานจริง คุณไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจอกับอะไร
และไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาข้างหลังอีกไหม ? ห้องที่คุณพูดว่าปลอดภัย
เมื่อ 10 วินาทีที่แล้ว มันอาจจะไม่ปลอดภัยในอีก 10 วิต่อจากนั้นก็ได้
สิ่งที่คุณต้องโฟกัส นั่นคือเส้นทางข้างหน้าที่ยังไม่เสร็จสิ้นของคุณ
และเส้นทางที่คุณผ่านมาแล้วเช่นกัน ... 

การเคลียร์ห้องในอาคาร หากคุณเคลื่อนที่ในระดับกองร้อยหรือกองพัน
คุณอาจจะเคลียร์ทีละพื้นที่ และก็ทิ้งกำลังพลส่วนหนึ่งเฝ้าพื้นที่ตรงนั้น
และเดินทางต่อไปยังพื้นที่ต่อไปก็ได้ แต่ไม่ใช่กับชุดปฏิบัติการพิเศษ
แนวคิดนั้นไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ หากคุณมีเพียง 7 คน กับอาคาร 4 ชั้น
ที่มีห้องมากกว่า 20 ห้องอยู่ข้างใน ..

คุณต้องปรับแนวคิดใหม่ ว่าวินาทีที่พวกคุณเข้าไปในห้องห้องหนึ่ง
ห้องนั้นกลายเป็นของพวกคุณแล้ว และเมื่อวินาทีที่คุณออกจากห้องนั้นไป
นั่นหมายความว่าห้องนั้นไม่ใช่ของคุณอีกต่อไปแล้วเช่นกัน 

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


ทุกคนจะต้องเชื่อแบบนั้น ถึงจะยังคงรักษาภาวะระวังภัยให้กันได้ในทุกทิศทาง
ความประมาทเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้ภารกิจล้มเหลวได้ ฉะนั้นการเคลื่อนที่
ทุกอย่างจะต้องกลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะวินาทีนั้น
มีเพียง 7 หรือ 10 ชีวิตที่อยู่ข้างตัวคุณเท่านั้นที่คุณจะไว้ใจกันด้วยชีวิตได้

ซึ่งนั่นทำให้มุมมองการฝึก CQB ของผมเปลี่ยนไป
เพราะในการฝึกมันไม่ใช่การฝึกแทคติกของคนคนเดียว
แต่มันคือการฝึกเป็นทีม การทำงานเป็นทีม การสื่อสารของทีม
และภาษากายของแต่ละทีม นั่นคือหัวใจหลักของการฝึก CQB

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น

 
นั่นคือทุกคนจะต้องรู้ใจกันและกัน และรู้หน้าที่ของตัวเองในทุกๆวินาที
ของการทำงาน ... คุณต้องรู้ว่าเพื่อนของคุณกำลังทำอะไรอยู่ 
คุณต้องรู้ว่าทีมทำอะไรอยู่ และตัวคุณจะต้องทำอะไรเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด
ของทีมในช่วงเวลานั้นๆให้ได้ นั่นทำให้มันไม่มีกฏตายตัวว่าแต่ละคน
จะต้องยืนอย่างไร ทำอย่างไร มันคือการสังเกตุ และคอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
หากเพื่อนมองไปทางซ้าย และเราเห็นว่าทางขวามันโล่ง คุณต้องไปเสริมให้เพื่อน
ถ้าคุณเห็นว่าด้านซ้ายและขวาปลอดภัย แต่ข้างหลังไม่มีคนดู คุณต้องเป็นคนดู

มันไม่มีกฏว่าใครต้องทำอะไร มันคือความเข้าใจของคนกลุ่มนึง
ว่าเขาจะต้องทำอะไรในขั้นตอนไหน ในช่วงไหนโดยอัตโนมัติ
โดยไม่ต้องสั่ง หรือต้องกำกับให้น้อยที่สุด

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ " สติ " เพราะมันคือสิ่งที่แต่ละคนต้องมีอยู่ตลอดเวลา
ในช่วงวินาทีนั้น ความกลัวมันเป็นเรื่องปกติ .. แต่ถ้าคุณกลัวและคุณยังขาดสติ
นั่นคือคุณเป็นตัวอันตราย ทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมทีม ...

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


และการฝึกของ Delta Forces แตกต่างจากการฝึกของหน่วยอื่นอย่างไร ?
คำตอบนั้นไม่ยากเลย ... เพราะพวกเราฝึกโดยยึดติดกับความเป็นจริงเสมอ 
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม .. และนี่คือตัวอย่างเคสหายากที่เราเจอในชีวิตของการฝึกซ้อม ..

เหตุการณ์ที่ 1 : ย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้เขียนยังปฏิบัติงานอยู่
ในตอนนั้นผมมีโอกาสได้ฝึกร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษเกาหลี
ที่แวะมายังศูนย์ฝึกของเราในฐาน ในห้วงการฝึก CQB นั้นเอง
พวกเราได้ทำการวางเป้ากระดาษสำหรับซ้อมยิงด้วยกระสุนจริง
ไว้ในตำแหน่งต่างๆภายในห้อง shooting house

หลังจากนั้นไม่นานหัวหน้าทีมของพวกเขา
ก็ได้พาลูกน้องทุกคนเข้ามาในห้อง และพาดูห้องทีละห้อง ..
ให้เห็นว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ดี พวกเขาสังเกตุ
และพยายามวาดท่ายิงจำลองว่าเขาจะต้องประทับยิงปืนตรงไหนบ้าง
เหมือนกับตั้งโปรแกรมในสมองแล้วว่าเขาจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ผมพยายามที่จะถามหัวหน้าทีมของเกาหลี
ว่าทำไมถึงทำแบบนั้น พวกเราได้คำตอบจากหัวหน้าทีมว่า
" เพราะตามขั้นตอนแล้ว พวกเราไม่อนุญาต
ให้ชุดปฏิบัติเข้าไปฝึกซ้อมในอาคารด้วยกระสุนจริงได้
หากไม่มีการตรวจสอบเป้าก่อนทำการฝึก "

" โอเค .... ถ้างั้นพวกคุณก็จะไม่มีวันเข้าใจเลย
ว่าความยากของ CQB คืออะไร "

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


ด้วยความสงสัยนั่นเอง สิ่งที่ผมทำในช่วงสุดท้าย นั่นคือการแอบเอา
เป้าที่วางอยู่ในบริเวณมุมห้องออก ซักประมาณ 2-3 เป้า 
และพวกเราก็ขึ้นไปสังเกตุการณ์อยู่ด้านบนขณะที่พวกเขาเริ่มฝึกด้วยกระสุนจริง

ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่ผมกลัว และก็เป็นไปอย่างที่คิดไว้จริงๆ
เมื่อถึงช่วงปฏิบัติจริง ผมก็ได้เห็นสมาชิกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเกาหลี
ทำการยิงเข้าไปในกำแพงเปล่าๆที่ไม่มีเป้าหมายซ้ำๆ
ในทุกจุดที่ผมแอบเอาเป้ายิงออกไป

พวกเขาช็อคกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่รู้ทำไมว่าพวกเขาถึงไม่ยอมพูดเรื่องนี้
ในการทบทวนหลังการปฏิบัติ ( AAR ) และผมก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะเรียนรู้เรื่องนี้ไหม
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็เปลี่ยนแผนการฝึกและเดินทางกลับก่อนกำหนด
พวกเราก็ทำได้แค่ยิ้ม และก็พูดแซวๆกันเองในกลุ่มว่า
" หวังว่าพวกเขาจะเรียนรู้อะไรได้บ้างนะ ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของ CQB "

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


เหตุการณ์ที่ 2 : ที่ Ft. Bragg ตอนนั้นเรากำลังทำการฝึกการเคลียร์อาคาร
ภายในเวลากลางคืน ... เราเริ่มต้นด้วยการ Breaching ห้อง เข้าเคลียร์ทีละห้อง
ทีละอาคารอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงห้องสุดท้าย ... เมื่อเราทำการบุกเข้าไป
สิ่งที่เราเห็นระหว่างเป้า 2 เป้าภายในห้อง นั่นคือผู้ชายคนนึง .. นั่งคุกเข่าอยู่
และชูมือในท่ายอมแพ้ทั้ง 2 ข้าง ชายคนนั้นคือเจ้าหน้าที่จาก Sayeret Matkal 
หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอิสราเอล อยู่ภายในอาคาร
ขณะที่เรากำลังฝึกยิงด้วยกระสุนจริง ! 

แน่นอนว่าเราไม่ได้ยิงเขา ... ทุกอย่างจบลงอย่างราบรื่นทั้งๆที่เราไม่รู้เลยว่า
ไอ้หมอนี่มันมาอยู่ใน Shooting House ได้อย่างไร และอยู่ไปเพื่ออะไร
จากการสอบถามทำให้เรารู้ว่า เจ้าหน้าที่คนนั้นอยากจะเรียนรู้ว่า
ความรู้สึกขณะอยู่ในอาคารตอนที่หน่วย Delta Force เคลียร์อาคาร
มันจะเป็นอย่างไร ... สีหน้าของเขาตกใจมาก และพยายามพวกเราซ้ำๆ
ตอนทำ AAR ว่าพวกเราทำได้อย่างไรกัน ? พวกเราเคลียร์ห้องอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ยังคงยืนยันตำแหน่งและเลือกยิงเป้าหมายได้อย่างถูกต้องในทันที
โดยไม่มีการสูญเสีย หรือเกิดเหตุยิงพวกเดียวกัน ( Blue on Blue ) ได้อย่างไร

พวกเราตอบเขาไปแบบหล่อๆว่า ...
" สำหรับเรามันก็ง่ายมาก .. เพราะเราถูกฝึกมาว่าจะต้องไม่ยิงบุคคล
ที่ไม่เป็นอันตรายภายในอาคาร เรายิงแต่ผู้ร้ายเท่านั้น ...
มันคือหนึ่งในการปฏิบัติง่ายๆของ CQB ที่เราทำกันมาหลายพันครั้งแล้ว " 

*รูปดังกล่าวเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายเท่านั้น


คำตอบง่ายๆนี่มันไม่ได้มาแบบง่ายๆนะ .. เพราะมันแลกมากับกระสุน
หลายพันนัดต่อสัปดาห์ ชั่วโมงการฝึกรวมกันหลายพันชั่วโมง 
และอีกหลายปีของการปฏิบัติงานจริง ซึ่งก็มีแต่ Operator ระดับแนวหน้าเท่านั้น
ที่จะได้โอกาสฝึกมากพอที่จะทำในสิ่งนั้นได้ และการอยู่ของคนนั้น
มันก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในสิ่งที่เราถูกฝึกมาให้รับมือแล้ว ....
เพียงแค่รอบนี้มันดันเป็นคนจริงๆเข้ามาอยู่ในการฝึกโดยที่เราไม่รู้ก็เท่านั้นเอง ...

แต่เชื่อหรือไม่ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจออะไรแบบนี้ ..
เพราะตลอดเวลาที่ทีม Delta ฝึกซ้อม ในบางครั้ง
เราก็มักจะเจอเซอร์ไพร์ซแบบนี้จากท่านนายพล William Garrison
อยู่เป็นประจำเหมือนกัน ... หนึ่งในงานอดิเรกของท่านที่เราไม่ค่อยชอบ
ก็คือการที่เขามักจะแอบเข้าไปใน Shooting House ขณะที่เรากำลังฝึก
เคลียร์อาคารด้วยกระสุนจริงอยู่หลายครั้ง 



โดยที่เขาจะนั่งเนียนๆอยู่บนโต๊ะภายในห้อง ปากคาบไม้จิ้มฟัน
และมือของเขาถือซิการ์อยู่ แม้ว่าเราจะบุกเข้าไป เขาก็จะทำหน้าที่ได้ดี
ในการรับบทเป็นผูู้ถูกควบคุมตัวก่อนที่พวกเราจะบุกไปห้องต่อๆไป
เขาเลือกที่จะเอาตัวเองเข้ามาเป็นเป้าในการฝึกซ้อมการแยกแยะเป้าหมาย
ขณะการปะทะ ( target discrimination. / Target Identification )

ถึงมันจะฟังดูบ้า แต่ก็ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นเพราะเขาเชื่อใจเราด้วยชีวิต
เขาเลือกที่จะทำโดยไม่รู้เลยว่า ซักวันนึงเราอาจจะพลาดยิงเขาก็ได้
และแน่นอนว่าชีวิตราชการของคนคนนั้นก็น่าจะดับวูบไปในพริบตาเช่นกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเหตุการณ์นั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้น และนั่นทำให้ท่านนายพล
กล้าที่จะตอบคำถามเวลามีใครถามว่า ทำไมถึงเลือกทีม Delta 
ในการปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายๆครั้ง 

คำตอบของเรา และคำตอบของท่านนายพลก็ยังคงเหมือนเดิม
" เพราะไม่มีใครเคลียร์ห้องได้เจ๋งเท่ากับพวก Delta ยังไงละ ! "

ที่มา : Nobody goes into a room like Delta Force: A CQB attitude primer

ผู้เขียนบทความ : GEORGE E. HAND IV ( อดีต SFOD-D ) 
ผู้แปลบทความ / เรียบเรียง : Ronnakrit " Viking " Sripumma 
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all
Review - ไฟฉายจาก Nextorch

Review - ไฟฉายจาก Nextorch

Review รีวิวadmin admin
Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review รีวิวadmin admin