ซุนจื่อ หรือ ซุนวูที่เรารู้จักกันได้กล่าวในตำราพิชัยสงครามของเขาไว้ว่า “รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” หมายถึงหากเรารู้กำลังของเราและรู้กำลังของข้าศึก เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวผลลัพธ์ของการรบในอีกหนึ่งร้อยครั้งข้างหน้าเลย คำกล่าวนี้ถูกใช้ในการสงครามตั้งแต่อดีตและถ่ายทอดมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ทหารในแนวหน้าสามารถรับรู้กำลังของข้าศึกได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีโดยที่ไม่ต้องรอคอยการรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแนวหลังเพื่อส่งมายังแนวหน้า ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวที่เป็นที่จับตามองและเป็นปัจจัยสำคัญในการสงครามปัจจุบันนั้นก็คือ…โดรนนั่นเอง
"โดรน Heron จากบริษัท IAI ประเทศอิสราเอล"
โดรนนั้นถูกใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นแต่ถูกจำกัดทั้งในแง่ของบทบาทและจำนวน แม้แต่ประเทศไทยเองก็เคยใช้โดรนในช่วงสมัยของยุคสงครามมาก่อน อย่างกรณีของสมรภูมิบ้านร่มเกล้าที่ฝ่ายไทยได้ใช้โดรนแบบ R4D Skyeye ในการถ่ายภาพและตรวจการณ์พื้นที่ฝ่ายลาว ณ ตอนนั้น การรับรู้ถึงการใช้โดรนหรือแม้แต่การมีอยู่ของโดรนในสมัยนั้นล้วนเป็นความลับทั้งสิ้น ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน ปีค.ศ.2001 หรือ 9/11 การใช้โดรนในกิจกรรมทางทหารนั้นมีความแพร่หลายมากขึ้นและเป็นความลับน้อยลงส่วนหนึ่งมาจากกระแสโลกาภิวัตน์รวมไปถึงความก้าวหน้าและการเข้าถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้แม้แต่พลเรือนเองก็สามารถครอบครองเทคโนโลยีดังกล่าวแต่คงไว้ซึ่งในรูปแบบที่จำกัดอย่างเช่นอุปกรณ์โดรนในฐานะอุปกรณ์บันทึกภาพหรือวิดีโอ หรือ ของเล่น เป็นต้น
"ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการใช้โดรนได้"
ด้วยตัวแปรต่างๆที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงการใช้โดรนได้มากขึ้นโดยเฉพาะทางด้านการทหาร โดรนได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อกุญแจไปสู่ความสำเร็จของภารกิจ หลากหลายชาติได้นำโดรนมาใช้งานเพื่อความสำเร็จลุล่วงของภารกิจหากแต่ทหารในแนวหน้านั้นยังถูกจำกัดการใช้งานอยู่มากเนื่องด้วยโดรนที่หลากหลายชาติใช้งานอยู่นั้นคือโดรนขนาดใหญ่อย่าง MQ-1, IAI Heron, Elbit Hermes 450, และ Bayraktar TB2 เป็นต้น เพื่อสนับสนุนภารกิจกองทัพในระดับกองทัพภาคซึ่งหลายชาตินั้นพยายามปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องด้วยการใช้โดรนไม่ได้ถูกใช้ในระดับกองทัพภาคอีกต่อไปแต่ถูกใช้มาถึงระดับหมู่โดยที่แต่ก่อนการใช้โดรนในสเกลทหารระดับหมู่หรือหมวดนั้นถูกกำจัดเฉพาะในหมู่หน่วยรบพิเศษเท่านั้น ในวันที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงการใช้โดรนได้นั้น แนวคิดดังกล่าวก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ทหาร, ตำรวจ, จนท.หน่วยงานความมั่นคงในประเทศที่สงครามและความขัดแย้งยังคุกกรุ่นได้นำโดรนของพลเรือนมาใช้ในการทำภารกิจโดยที่ไม่ต้องรอคำขอการใช้โดรนจากหน่วยเหนือ ตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ชัดนั้นก็คือเหตุการณ์รุกรานยูเครนโดยฝ่ายรัสเซีย ตั้งแต่เริ่มการรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ โดรนขนาดเล็กหรือโดรนพลเรือนมีส่วนช่วยอย่างมากแก่ฝ่ายยูเครนในการใช้ต่อต้านฝ่ายรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนในการระบุตำแหน่งของฝ่ายรัสเซีย, ใช้ถ่ายภาพทางอากาศ, ใช้ตรวจการณ์สภาพภูมิประเทศ รวมไปถึงดัดแปลงโดรนจำนวนหนึ่งให้มีขีดความสามารถในการทิ้งลูกระเบิดอย่างลูกระเบิดมือและลูกปืนครกอีกด้วย แต่การที่โดรนพลเรือน (Commercial drone) เข้ามามีบทบาทในการสงครามมากขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่ามันจะมาแทนที่โดรนทางทหารได้ หากแต่โดรนพลเรือนนั้นมีราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทหารสามารถซื้อมาใช้เองได้เพื่อเพิ่มศักยภาพการมองเห็นในสนามรบ แม้แต่พลเรือนก็สามารถซื้อบริจาคให้กับทหารได้
"โดรนแบบ Bayraktar TB2 (ผลิตในประเทศตุรกี)ที่ยูเครนใช้ในการทำลายที่ตั้งและยานเกราะของฝ่ายข้าศึก"
"ทหารยูเครนในแนวหน้าได้นำโดรนพลเรือนมาใช้ในการระบุ/ค้นหาที่ตั้งของฝ่ายข้าศึก"
ทั้งนี้ทั้งนั้นจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนทำให้กองทัพหลายประเทศได้ตระหนักถึงความได้เปรียบในสนามรบต่อการมีโดรนให้ทหารตั้งแต่ระดับหมู่ไว้ใช้งานจึงเป็นเหตุนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในกองทัพหลายประเทศที่ได้ริเริ่มบรรจุโดรนขนาดเล็กทั้งโดรนทางทหารและโดรนพลเรือนให้หน่วยทหารนอกเหนือจากหน่วยรบพิเศษไว้ใช้งาน ในประเทศไทยเองก็มีการนำโดรนพลเรือนมาใช้งานบ้างแล้วในภาคใต้แต่คาดโดรนเหล่านั้นมาจากการบริจาคหรือจัดซื้อใช้เอง
"จากสงครามในยูเครนทำให้กองทัพหลายประเทศได้นำโดรนขนาดเล็กให้ทหารราบมีไว้ใช้งาน...ประเทศจีน เป็นต้น"