ทิศทางเครื่องสนามทหารไทย Valor Tactical

            เป็นที่แพร่หลายกันมากขึ้นกับชุดเครื่องสนามแบบใหม่ที่กำลังถูกนำมาทดแทนชุดเครื่องสนามแบบเก่าอยู่ในขณะนี้ แต่ที่มาที่ไปของชุดเครื่องสนามแบบใหม่ของกองทัพไทยมีมาอย่างไร ทำไมสายข้างหลังถึงเปลี่ยนจาก 1 สาย เป็น 2 สาย? ทำไมแผ่นรองไหล่ถึงหนาขึ้นกว่าเดิม? วันนี้เราจะลองพูดถึงชุดเครื่องสนามแบบใหม่นี้กัน และต่อจากนี้จะใช้คำว่า “สายเก่ง” แทนคำว่า “ชุดเครื่องสนาม” เพื่อง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่าน

            สายเก่งแบบใหม่ถูกนำมาแทนที่สายเก่งแบบเก่าที่มีต้นแบบมาจากชุดเครื่องสนามแบบ All-Purpose Lightweight Individual Carrying Equipment (ALICE) หรือที่เรารู้จักกันในนาม “สายเก่งตัว Y” ซึ่งในกองทัพสหรัฐเริ่มใช้งานตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 จนถึงปลายทศวรรษที่ 1990 จนกระทั่งการมาใหม่ของเทคโนโลยีอย่าง “Molle” หรือเรารู้จักกันในนาม “โมเล่” นั่นเอง

            ที่มาที่ไปของสายเก่งแบบใหม่นั้นยังไม่แน่ชัดแต่ความเป็นไปได้มากที่สุดของต้นแบบสายเก่งแบบใหม่นี้คาดว่าได้รูปแบบแพทเทิร์นมาจากการผสมผสานกันระหว่างชุดเครื่องสนามแบบ M-1956 Load-Carrying Equipment และชุดเครื่องสนามแบบ M-1967 Modernized Load-Carrying Equipment ที่ถูกพัฒนาในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ตามลำดับ โดยสายเก่งทั้ง 2 แบบนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับสายเก่งแบบใหม่มากเช่นสายด้านหลังที่ใช้ 2 และตัวล็อคกับเข็มขัดข้างละ 2 ตำแหน่ง เป็นต้น อีกเหตุผลหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นข้อสันนิษฐานที่สายเก่งแบบใหม่ถอดแบบมาจากสายเก่งแบบเก่าของสหรัฐนั้นก็คือ การอิงจากตำราหลักหลักนิยมของกองทัพสหรัฐซึ่งประเทศไทยนั้นใช้ตำราจากสหรัฐตั้งแต่ในเรื่องของยุทธวิธีไปจนถึงเครื่องแบบการฝึกจึงเป็นไปได้สูงที่ผู้ออกแบบนั้นจะได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลการออกแบบมาจากตำราของฝั่งสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

"ภาพส่วนประกอบต่างๆ ของสายเก่ง ALICE” หรือ สายเก่งรูปตัว Y” ที่กำลังพลกองทัพไทยคุ้นเคยกันดี"

 

            ในเรื่องของการใช้งาน เดิมทีด้วยลักษณะสรีระร่างกายของกำลังพลไทยมีขนาดเล็กกว่าชาวตะวันตก การประทับเล็งปืนขณะที่สวมใส่สายเก่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกสบายนัก ในบางรายอาจต้องสอดพานท้ายปืนเข้าไปใต้สายเก่งเพื่อให้พานท้ายปืนนั้นสามารถประทับเข้ากับร่องไหล่ได้อย่างมั่นคง จากคำบอกกล่าวของกำลังพลจากเหล่าต่างๆที่ใช้ได้ใช้สายเก่งทั้ง 2 แบบ กำลังพลได้ให้ความเห็นว่าการประทับเล็งปืนขณะใส่สายเก่งนั้นทำให้การยิงปืนมีอุปสรรคมากขึ้น โดยเฉพาะกับสายเก่งแบบใหม่ที่ทำให้การประทับเล็งปืนนั้นมีอุปสรรคมากกว่าเดิมเนื่องด้วยส่วนของสายโยงบ่าแบบใหม่นั้นมีการบุนวมรองไหล่ที่ “หนาและกว้าง” มากขึ้น ซึ่งนอกจากอุปสรรคในการประทับเล็งปืนแล้วยังทำให้เกิดบาดแผลจากการสวมใส่อีกด้วย เช่นที่ลำคอ เป็นต้น อีกทั้งกำลังพลที่มีขนาดสรีระร่างกายที่เล็กอาจไม่ได้รับความสะดวกสบายขณะใส่เนื่องด้วยขนาดของสายโยงบ่ามีเพียงขนาดเดียว

 

"ตัวอย่างของการนำพานท้ายปืนแบบต่างๆสอดเข้าใต้สายเก่งรูปตัว Y เพื่อให้สะดวกขึ้นต่อการประทับเล็ง"

"กำลังพลที่มีขนาดตัวเล็กเมื่อใส่สายเก่งแบบใหม่"

            ในขณะเดียวกันนั้น เหล่าทัพอื่นก็ได้มีการริเริ่มการนำสายเก่งแบบใหม่เข้ามาทดลองใช้บ้างแล้ว เช่น กองทัพเรือ ที่ได้ให้กำลังพลที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ในปี  พ.ศ.2565 ใช้สายเก่งแบบ Recon Chest Rig ของ Condor เป็นต้น

"กำลังพลกองทัพเรือกับ Recon Chest Rig"

               ท้ายที่สุดนี้ เรื่องดังกล่าวนี้ก็เป็นเหตุผลที่ดีในการตั้งคำถามว่าการนำแพทเทิร์นรูปแบบเก่าหรือรูปแบบที่เลิกใช้ไปแล้วนั้นมาทำขึ้นใหม่จะสามารถตอบโจทย์กำลังพลผู้ใช้งานได้จริงหรือไม่?

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่