แนวทางและความสำคัญของการจัดชุด IFAK ของที่ทุกคนต้องมี ! Valor Tactical
เมื่อเราพูดถึงกระเป๋า IFAK หรือชุดปฐมพยาบาลส่วนบุคคล
หลายๆคนอาจจะไปนึกถึงกระเป๋าพยาบาล หรือชุดพยาบาล
ที่ใส่เครื่องมือสำหรับแพทย์เคลื่อนที่โดยเฉพาะ

Tactical Combat Casualty Care course – EBSSA Online

พอพูดถึงเรื่องนี้มันอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว
หรือแม้แต่ความเชื่อสุดคลาสสิคที่ว่า " เราไม่ใช่หมอซะหน่อย
ของพวกนั้นเอาไว้ให้แพทย์สนาม/เสนารักษ์เป็นคนพกละกัน "
ไปจนถึงประโยคอย่างเช่น  " ของพวกนี้มันเยอะ เกะกะ
แถมใช้ไม่เป็นอีกต่างหาก ไม่พกละกัน " 

... แต่กับคนที่เคยผ่านเหตุการณ์จริงมา ผมเชื่อว่าหลายๆคน
ไม่ได้คิดแบบนั้นหรือเคยคิดแบบนั้นแต่ล้มเลิกความคิดทันที
ในวินาทีที่ตัวเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การปะทะจริง
หรือเจอเหตุการณ์จริงต่อหน้าต่อตา ...

ประโยคที่ผมมักจะได้ยินจากผู้ที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา 
นั่นคือคำพูดที่ว่า " ทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นเร็วมาก
เร็วซะจนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี " รวมไปถึงวลีอย่างเช่น
" รู้งี้ ... เอาติดตัวมาด้วยก็น่าจะดีกว่า " 

ซึ่งนำพาไปจนถึงบทสรุปสุดท้ายที่ว่า

" ของบางอย่างมีไว้ไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วดันไม่มี "


ใช่ครับ .. และในวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุด IFAK 
ว่าแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีแต่กระเป๋าพยาบาลอันใหญ่ๆที่ต้องใส่ทุกอย่างลงไป
แล้วติดตรากาชาดพร้อมบอกว่า " นี่ไง ... ฉันมีของพร้อมแล้วนะ "

แต่สุดท้ายมันคือเรื่องของ Mindset และประสบการณ์ของคุณต่างหาก
ที่ควรนำมาใช้ในการจัดหากระเป๋า IFAK ติดตัวซักชุดนึง ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย !

Loadout Room photo of the day: Survive and operate - Gear up | SOFREP

ผมขอท้าวความถึงขั้นตอนแรกของการจัด Loadout
ก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจ โดยอ้างอิงจากหลักการปฏิบัติ
ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษระดับโลก

คำแนะนำที่ดีที่สุดคือเราต้องรู้ก่อนว่า เราจะไปทำภารกิจรูปแบบไหน
และมีความเป็นไปได้ ว่าจะเจอกับสถานการณ์แบบไหนบ้าง ?

ฉะนั้นการจัด Loadout จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ นั่นคือ ....

First Line Gear : อุปกรณ์ระดับพื้นฐานสุด สำหรับภารกิจ
ที่เราต้องเข้าไปปะทะหรือจะต้องพบกับสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ
ฉะนั้นอุปกรณ์ที่เอาไปจะเน้นที่ความคล่องตัว เอาไปเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น

Second Line Gear : จะเป็นอุปกรณ์ที่ต่อยอดมาจากชุดแรก 
อาจจะเหมาะกับการใช้ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติการ
อุปกรณ์ที่เอาไปจะเน้นที่การประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในจุดนี้เรายังคงต้องการความคล่องตัวอยู่ แต่มีอุปกรณ์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น
หลักการออกแบบคือเพื่อใช้ในการสนับสนุนกรณีทีมปฏิบัติการส่วนหน้า
เกิดปัญหาหรือเราจะต้องเข้าไปเป็นทีมสนับสนุนต่อเนื่องกับทีมแรก เป็นต้น

Third Line Gear : คืออุปกรณ์สำหรับชุดสนับสนุนส่วนหลัง
จะมุ่งเน้นที่อุปกรณ์สำหรับการรองรับในทุกความเป็นไปได้
ที่เกิดขึ้นของภารกิจ ในส่วนนี้คือเรามั่นใจแล้วว่า เราไม่ใช่ทีม
ที่จะเข้าไปปะทะโดยตรงแต่จะเป็นทีมเตรียมพร้อม
ที่เวลาเกิดเหตุผิดพลาด เราคือส่วนที่จะมาแก้ไขปัญหานั้น
หรือช่วยในส่วนของการอพยพ , ล่าถอย ของชุดปฏิบัติการส่วนหน้า
ไปจนถึงชุดสนับสนุน เป็นต้น

เอาละ ... เมื่อถึงจุดนี้ผู้อ่านทุกท่านอาจจะเริ่มสงสัย
ว่า " ทำไมเราต้องมาพูดถึงเรื่องการจัด Loadout
กับบทความการจัดชุดปฐมพยาบาลด้วย "

ผมกำลังจะบอกว่า " มันเกี่ยวข้องอย่างยิ่งเลยครับ "
เพราะผมกำลังจะถามทุกท่านกลับไปว่า
" หน้าที่การทำงานที่แท้จริงของพวกคุณอยู่ในประเภทไหน
และพวกคุณจัด Loadout แบบไหนกันบ้างในปัจจุบัน ? "
ตรงตามลักษณะภารกิจของเราจริงๆไหม ?
หรือมีเตรียมไว้ทั้ง 3 แบบเลยไหม หรือยังคงจัดกันแบบ
" ชุดเดียวไปได้ทุกงาน " กันอยู่บ้าง ?

และในคำว่าอุปกรณ์พยาบาลที่เคยได้ยิน เคยเห็นกันนั้น
" คุณกำลังมองมันว่าเป็นอุปกรณ์เฉพาะ
ใน Third Line Gear เท่านั้นอยู่หรือเปล่า ? " 

ถ้าคำตอบคือใช่ .. ขอแสดงความยินดีด้วยครับ
ถึงเวลาจัดกระเป๋ากันใหม่แล้วครับ ... 

Pin on TMC Airsoft Gear

ในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องพกทุกอย่าง
หรือยัดอุปกรณ์ทุกอย่างไปในทุกภารกิจ เพราะสุดท้ายคุณก็จะเรียนรู้เอง
ว่าของบางชิ้นมันหนัก .. ไม่ได้ใช้งานอย่างแน่นอนในทุกความเป็นไปได้ของภารกิจ
.. และเปลืองพลังงานในการขนย้ายโดยใช่เหตุ

แต่ถ้าคุณเข้าใจและมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว
คุณจะรู้เองว่าคุณต้องเตรียมอะไรไปบ้าง
และอะไรที่จำเป็นจริงๆที่ควรเอาไป

หลักการนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการจัดชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลส่วนบุคคลครับ
คุณไม่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์พยาบาลทุกชิ้นที่มีในชั้นวาง 
ไม่จำเป็นต้องแบกทุกอย่างเหมือนกับแพทย์สนาม
คุณควรมีเฉพาะของที่ควรมี อ้างอิงจากภารกิจและประสบการณ์ที่เจอ

เพียงแค่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องถูกยิงก่อน ถึงจะจัดชุด IFAK เป็น 
แต่คุณสามารถจัดได้โดยอ้างอิงจาก " ประสบการณ์การฝึก
และความเข้าใจในการฝึกปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บของคุณเอง "

และในวันนี้เราจะมาโฟกัสกันที่การจัดชุดปฐมพยาบาล
แบบ First Line Gear สำหรับชุดปฏิบัติการส่วนหน้า 
ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุด และมีคนสงสัยมากที่สุด
ไปจนถึงมีคนเข้าใจผิดมากที่สุดเช่นเดียวกันครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

หลายๆคนอาจจะรู้จักกับ IFAK และเห็นว่าปัญหาหลักๆเลยก็คือ
 " มันมีเยอะเต็มไปหมดเลย !!! " เยอะจนไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร จะจัดแบบไหนดี
แม้แต่ชุดสำเร็จรูปพร้อมใช้งานก็ยังมีเยอะมากเป็นร้อยๆแบบ จะซื้อแบบไหนดี ?

ก่อนอื่นเลย สำหรับการจัดชุด IFAK ระดับ First Line Gear
หรือชุดปฏิบัติการส่วนหน้าหรือทีมเผชิญเหตุ สิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่าน
จดจำเอาไว้อย่างชัดเจนนั่นคือ ... 

" มันไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับคนอื่น มันเป็นของคุณ มันเอาไว้ใช้กับคุณ
ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตตัวคุณโดยเฉพาะ คุณล้วนๆ ไม่มีคนอื่นผสม
ไม่ได้เอาไว้ทำโรงพยาบาลสนาม หรืออะไรเวอร์วังเลยแม้แต่น้อย ! "

ฉะนั้นมันไม่เกี่ยวว่าคุณมีของครบทุกชิ้นเสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่แล้วคือจบ
ของดีแค่ไหนแต่ถ้าใช้งานไม่เป็น มันก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ฉะนั้นสิ่งที่ควรมี
คือของที่มันจำเป็น และแน่นอนว่าคุณต้องใช้งานมันให้เป็นเช่นกัน !

ชุด IFAK ของคุณจะต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานแบบสุดๆ
เท่าที่คุณรู้เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ในการช่วยชีวิตของคุณเอง และแน่นอน
คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานมันให้เป็นด้วย ! ถ้าคุณยังไม่เคยเรียนมาก่อนเลย
หรือยังคิดว่าเรื่องพวกนี้มันไม่สำคัญที่จะต้องเรียนรู้เอาไว้

ให้ลองตั้งคำถามตัวเองดูครับว่า
" คุณเป็นพระเอกหนังตัวจริงในโลกใบนี้อยู่หรือเปล่า ? "

ถ้าคุณไม่ใช่ คุณคิดว่าคุณมีโอกาสถูกยิงไหม ถ้าเกิดเหตุยิงกันจริงๆ ?
มันดูมีโอกาส 50-50 ใช่ไหม ? คุณคิดว่าคุณจะไม่มีวันถูกยิงใช่ไหม ?
และผมขอถามหน่อยว่าถ้าคุณดันเป็นคนซวยที่โดนยิง

" ใครจะเป็นคนช่วยคุณครับ ? "

และมันไม่ได้มีแค่เหตุถูกยิง เพราะทุกคนไม่ได้อยู่ในดงกระสุนตลอดเวลา
แต่ทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้เท่าๆกัน ถ้าถึงจุดนั้นแล้ว 
แม้แต่ตัวคุณยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

" ใครจะเป็นคนช่วยครับ ? "

เมื่อถึงจุดนี้ หากท่านยังไม่เคยเรียน ผมแนะนำให้ลองศึกษาดู
หรือถ้าคุณเคยเรียนมาบ้าง และเริ่มจัดกระเป๋า IFAK ของคุณเอง
เรามาดูหัวข้อสำคัญต่อจากนี้กันครับ

 ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

อะไรคือส่วนสำคัญที่สุดของอุปกรณ์ภายใน IFAK ?
ถ้างั้นเรียงตามข้อมูลสถิติเลยละกัน 

ในการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในสนามรบ หรือในการปะทะ
มากกว่า 85% คือการเสียชีวิตจากการเสียเลือด
( Massive hemorrhage ) เอาง่ายๆคือไม่สามารถห้ามเลือดได้
จนกระทั่งเลือดออกจนหมดตัวนั่นแหละ

และอีก 9%  คือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจาก
ภาวะทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็น มีสิ่งอุดตัน , เกิดแผลในช่องอก
หรือมีภาวะลม/ของเหลวอยู่ในเยื่อหุ้มปอด จนทำให้ไม่สามารถหายใจ
เอาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ จนทำให้เกิดการเสียชีวิตในที่สุด

และ 6% สุดท้ายนั่นคือการที่ผู้เสียชีวิต
โดนปะทะเข้าที่จุดสำคัญของร่างกาย
ซึ่งจุดนั้นเรียกได้ว่าทำอะไรไม่ได้ อันนั้นเราอาจจะต้องปล่อยไป

หลังจากเห็นข้อมูลสถิตินี้แบบสั้นๆ ผมเชื่อว่าทุกท่านอาจจะ
พอมองภาพออก สิ่งที่เราต้องมีไว้แน่ๆ ในชุด IFAK
คืออุปกรณ์ที่ลดโอกาสการเสียชีวิตมากที่สุด
นั่นคืออุปกรณ์ที่ช่วยในการห้ามเลือดนั่นเองครับ !! 

Tourniquet the Limbs, Pack the Junctions, Seal the Box - Dark Angel Medical

และในการห้ามเลือดก็จะมีคำถามตามมาอีกเช่นเดียวกัน
แค่สายรัดห้ามเลือดมันเพียงพอแล้วหรือไม่ ?
ในจุดนี้อาจจะต้องมาต่อยอดกันอีกว่า 

" คุณมีอุปกรณ์ห้ามเลือดเพียงพอกับ
การใช้งานในทุกตำแหน่งของร่างกายแล้วหรือยัง ? "



สายรัดห้ามเลือดนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ดีมาก 
กับการบาดเจ็บในบริเวณแขนหรือขา ยิ่งถ้าเป็นสายรัดห้ามเลือด
ที่ได้รับการรับรองและมีมาตรฐาน จะยิ่งมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้งาน
ที่ง่ายดายและรวดเร็วมากๆ ไปจนถึงมีความแข็งแรงมากๆเช่นกัน

แต่ถ้าเกิดบาดแผลของเราไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณแขน/ขา ละ ?
อย่าลืมว่าส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีโอกาสโดนมากที่สุด
นั่นคือช่วงลำตัวของเรานะ และถ้าโดนยิงในจุดนั้น
เราจะใช้อะไรในการห้ามเลือด ถ้าเกิดสายรัดห้ามเลือด
ไม่สามารถใช้ได้ที่ตำแหน่งนั้นๆ ?




ต้องขอขอบคุณโลกปัจจุบันที่มีการพัฒนามาอย่างมากมาย
โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ผ่านการเก็บข้อมูล
และได้รับการรับรองโดย CoTCCC ทำให้เรามีอุปกรณ์ห้ามเลือด
ชนิดใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายรัดห้ามเลือดรุ่นใหม่ๆ
ไปจนถึงผ้าก๊อซที่มีสารห้ามเลือดที่ทำให้การห้ามเลือดทำได้ง่ายขึ้นเยอะ

หลังจากที่เรามีอุปกรณ์ห้ามเลือดเป็นชุดตั้งต้นแล้ว
ต่อจากนี้อุปกรณ์ต่อๆมาก็จะง่ายขึ้นเยอะมากแล้วครับ
ถ้าเกิดท่านผู้อ่านอยากได้ Guideline คร่าวๆ ว่าของชิ้นไหน
ใช้กับอะไร ผมขอมอบรูปภาพนี้ให้สำหรับประกอบการเลือกซื้อ
อุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้ตรงกับความต้องการครับ

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร

ถ้าหากท่านผู้อ่าน ยังเริ่มต้นกับการเตรียมชุดกระเป๋า IFAK 
คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ไม่จำเป็นต้องรอซื้อทีเดียวครบทุกชิ้น

คุณสามารถเริ่มต้นจากของที่จำเป็นที่สุดก่อนได้
ซึ่งอุปกรณ์ห้ามเลือดนี่แหละคือตัวเริ่มต้นที่ดีมากๆแล้ว 

ไม่มีใครว่าอะไรคุณ หากในกระเป๋าทั้งตัวคุณจะมีแค่สายรัดห้ามเลือด
กับผ้าก๊อซเฉยๆ หากมันคือสิ่งที่คุณมองว่าสำคัญที่สุด
และต้องมี ณ ตอนนั้น คุณจำเป็นต้องมีสิ่งนี้ก่อน และค่อยต่อยอด
ซื้อเพิ่มเรื่อยๆเมื่อมีโอกาส หรือมีประสบการณ์ในการฝึกมากขึ้นก็ได้

เพราะเมื่อใดที่คุณรอจนกว่าของจะครบแล้วค่อยซื้อ 
มันอาจจะช้าเกินไป .. มันอาจจะไม่ได้ซื้อซะที ..
หรือแม้แต่ตอนที่จะซื้อแล้ว ของก็ดันหมดซะงั้น

ฉะนั้นให้มองชีวิตเราเป็นหลักครับ ถ้าเรามองว่าชิ้นไหนสำคัญ
ซื้อชิ้นนั้นมาเก็บไว้ก่อนเลยครับ คิดซะว่าเป็นประกันชีวิตฉุกเฉิน
ของเราเองก็ได้ครับ

Amazon.com: Trunab Emergency Responder Trauma Bag Empty, Professional First  Aid Kits Storage Medical Bag with Inner Dividers and Anti-Scratch Bottom,  Ideal for EMT, EMS, Paramedics, Grey, Bag ONLY: Health & Personal Care

แต่สิ่งที่ต้องระวัง .. นั่นคือบางคนอาจจะผิดพลาดด้วยการพยายาม
ยัดทุกอย่างเข้าไปในกระเป๋า IFAK ของตัวเอง

ซึ่งเหมารวมไปถึงพวก ibuprofen ที่เอาไว้ใช้เป็นยาแก้อักเสบ
, ครีมกันแดด หรือพวกยาสามัญต่างๆ เพราะมองว่ามันคือกระเป๋าพยาบาล
และจะไปจบที่การที่คุณต้องพกกระเป๋าขนาดใหญ่ไปๆมาๆ 
ทำให้รู้สึกไม่คล่องตัว และไปจบที่การเลิกพกชุดพยาบาลไปในที่สุด

จงจำไว้ว่า ...

อย่าเอามารวมกัน ! ชุด IFAK คือชุดปฐมพยาบาลที่เอาไว้ยื้อชีวิต
ไม่ใช่ตู้พยาบาลขนาดเล็ก ถ้าคุณต้องการเก็บของพวกนั้น 
ให้เอาไว้แยกช่องเป็นชุดยาสามัญหรือเก็บไว้ในกระเป๋าเป้ดีกว่า



อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เรากำลังจัดชุดกระเป๋าพยาบาล
ระดับ First Line Gear นั่นคือ " คุณใส่เฉพาะของที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น "
ฉะนั้น สิ่งที่ท่านควรเลือก นั่นคือการจัดโดยมุ่งเน้นไปที่
" ของที่ต้องใช้จริงๆ กรณีเผชิญเหตุ " เท่านั้นเลยจะดีที่สุดครับ

และนอกเหนือจากชุดกระเป๋า IFAK ที่เราจัดตามอุปกรณ์
ที่เราคิดว่าจำเป็นรวมไปถึงมีความรู้ในการใช้งานแล้ว
สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือเรื่องของตำแหน่งครับ



ตำแหน่งการติดกระเป๋า IFAK เรียกได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
หรือตำแหน่งเฉพาะที่ระบุว่า " ต้องทำ " ชัดเจนอะไร
เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวเรา มากสุดก็คือระดับทีม

( ทีมปฏิบัติการบางทีมเลือกที่จะกำหนดตำแหน่ง
ของอุปกรณ์พยาบาลให้เป็นตำแหน่งเดียวกันทั้งทีม
เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้ กรณีที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ
สมาชิกในทีมที่บาดเจ็บ )
 
แต่คำแนะนำเดียวที่เราสามารถให้กับท่านได้ นั่นคือ
ท่านจะต้องทดสอบด้วยตัวท่านเองว่า "
ท่านสามารถเข้าถึงกระเป๋าพยาบาลได้ทั้งสองมือ
หรือในทุกสถานการณ์ได้หรือไม่ ?

TacMed Solutions Operator IFAK, Stocked | Body Armor Outlet

ในยุคก่อน เจ้าหน้าที่นิยมนำกระเป๋าพยาบาลเอาไว้ที่ด้านข้างของเสื้อเกราะ
ฝั่งแขนข้างที่ไม่ถนัด ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 ข้อ นั่นคือ

1. มันอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญน้อยที่สุดของร่างกาย

เพราะเราเลือกใช้ฝั่งแขนข้างที่ถนัดเอาไว้สำหรับติดซองปืนพก
หรือว่าเอาไว้ติดของสำคัญมากกว่า

2. มันยังคงสามารถหยิบใช้ได้ทั้งสองมือ 
ยิ่งเป็นมือข้างที่ไม่ถนัดยิ่งง่าย เพราะมันใกล้มือที่สุด
หรือไม่งั้นก็เอามือข้างที่ถนัด เอื้อมมาหาก็ยังหยิบได้
ไม่มีปัญหาเหมือนกัน

ถามว่าความเชื่อนี้ผิดไหม ? มันก็ไม่ผิดครับผม
เพราะมันอยู่ที่ความถนัดล้วนๆ แต่ท่านลองนึกภาพตามดูครับว่า ..

ถ้าเกิดเหตุระเบิดจาก IED หรือเราถูกยิงจนอวัยวะฉีกขาด
ถึงจุดนั้นเราจะหยิบใช้ในตำแหน่งนั้นได้หรือไม่ ? 
ซึ่งสิ่งนี้มีเคสกรณีศึกษามากมายจากสมรภูมิทั่วโลก

หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นหลายๆท่านเลือกที่จะปรับตำแหน่ง
มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า หรือติดกับเข็มขัดแทนอะไรพวกนี้

แต่อย่างที่บอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ คำแนะนำที่ดีที่สุด
คือให้พวกเราลองติดตั้ง และทดสอบการหยิบใช้ในทุกท่าทาง
ในทุกความเป็นไปได้ ถึงจุดนั้นผมเชื่อว่าท่าน
น่าจะมีคำตอบของท่านเองเรียบร้อยแล้วครับ

ท่านสามารถลองทำแบบทดสอบง่ายๆเช่น
การทดลองหยิบใช้อุปกรณ์พยาบาลในท่าทางต่างๆ ดังนี้ ..

- หยิบจากมือข้างที่ถนัด / ไม่ถนัด มือเดียว ในท่ายืน
- หยิบจากมือข้างที่ถนัด / ไม่ถนัด มือเดียว ในท่านั่ง
- หยิบจากมือข้างที่ถนัด / ไม่ถนัด มือเดียว ในท่านอนคว่ำ
- หยิบจากมือข้างที่ถนัด / ไม่ถนัด มือเดียว ในท่านอนหงาย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

อย่างไรก็ตาม .. ยังมีรายละเอียดอีกมากมายสำหรับการจัดชุดปฐมพยาบาล
และยังมีสูตรอีกมากมายไว้เป็นตัวเลือกให้ท่านได้ลอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดเลย
คือหลักการปฏิบัติและเลือกใช้อุปกรณ์ให้ตรงกับภารกิจของตนเอง

เลือกจากสิ่งที่เรามั่นใจว่าเราใช้งานได้แน่ๆ เลือกสิ่งที่จำเป็นที่สุดก่อน
ทดลองจนมั่นใจว่าเราสามารถหยิบใช้ได้อย่างไม่มีปัญหา

และในอนาคตเมื่อมีอุปกรณ์ครบแล้ว เราอาจจะมาคิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ
เพิ่มเติมขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น .. การมีสายรัดห้ามเลือดสำรองอีกซัก 1-2 เส้น
ในบางคนอาจจะเลือกพกสายห้ามเลือดมากกว่า 1 เส้น ด้วยเหตุผลที่ว่า

1. เผื่อเส้นแรกชำรุดหรือเสียหาย จะได้มีสำรองเอาไว้
2. เตรียมไว้เผื่อต้องใช้ช่วยเหลือผู้อื่น

หรือแม้แต่ชุด IFAK สำรอง สำหรับเอาไว้ในรถ , กระเป๋า EDC , ในบ้าน
ทุกอย่างล้วนมาจากการต่อยอดของประสบการณ์และความรู้
ที่เราได้รับเมื่อผ่านการฝึก หรือจากประสบการณ์ตรงที่พบเจอมา





หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์และค้นพบแนวทาง
สำหรับการจัดชุดกระเป๋า IFAK ประจำตัวของท่านเองนะครับ
ของพวกนี้อย่างน้อยมีไว้ซักชุด ยังไงก็สบายใจกว่าเยอะ

จะซื้อแบบยกชุดสำเร็จรูปเลยก็ได้ หรือจะทยอยซื้อทีละชิ้น
ตามความจำเป็นก่อนก็ได้ครับผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์
และความจำเป็นในการใช้งาน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับผม

----------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม : 
Individual First Aid Kit (IFAK) - What do you really need? | SOFREP
The Direct Injury Care Pouch - The IFAK Redefined | SOFREP

ผู้เขียน / เรียบเรียง : Ronnakrit " Viking " Sripumma 
เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564


 

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all
Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review รีวิวadmin admin
REVIEW: Magpul - MBUS Pro Sight

REVIEW: Magpul - MBUS Pro Sight

admin admin