" This is my safety " ไขวลีเด็ดจากหนัง Black Hawk Down โดยเจ้าหน้าที่ตัวจริงในเหตุการณ์ Valor Tactical

ถ้าพูดถึงหนังสงครามขึ้นหิ้งซักเรื่องที่หลายๆคนรู้จักกันแน่ๆ
ผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่อง " Black Hawk Down " คือหนึ่งในนั้น
.
นอกเหนือจากการที่มันถูกสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง
และมีข้อมูลเพิ่มเติมจากเหตุการณ์นั้นให้เราได้รับรู้กันมากมาย

แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนมักจะจำได้ในหนัง
นั่นคือซีน " This is my safety, sir " ที่โด่งดัง
ถ้าเกิดใครอยากรำลึกความหลัง สามารถดู Scene นั้นได้
ที่คลิปด้านล่างเลยครับ


เหตุการณ์ในหนัง คือช่วงที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ Delta Force
ชื่อ " Hoot " ( แสดงโดย Eric Bana ) เพิ่งกลับมาจากภารกิจลาดตระเวน
ได้พบกับ Capt.Steele ( แสดงโดย Jason Isaacs ) ในฐาน


 
และตัว Capt.Steele ได้สังเกตุเห็นถึงการละเลยมาตรฐานความปลอดภัย
ในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่และได้ทำการเข้าไปตักเตือน Hoot
ว่าถึงแม้จะอยู่ในฐานก็ไม่ควรละเมิดกฏความปลอดภัยในการใช้อาวุธ
และชี้ไปที่โหมดปรับการยิงที่อยู่ในสถานะพร้อมยิง " Semi "
แทนที่สถานะห้ามไก " Safe "

แต่กลับได้รับคำตอบแบบกวนๆของ Hoot ด้วยการทำนิ้วในท่าลั่นไก
พร้อมกับพูดว่า " นี่แหละ Safety ของผม "



ซึ่งซีนนี้กลายมาเป็นหนึ่งในฉากจดจำของหนังสำหรับทุกคน 
มีการทำเสื้อยืด , Patch และอื่นๆอีกมากมาย และแน่นอนว่า
มันกลายมาเป็นวลีเด็ดของคนเล่นปืนในช่วงเวลานึงเลยเหมือนกัน

แต่เชื่อหรือไม่ว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น บทสนทนาอันนี้กลับมีความหมาย
ที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น และยังมาพร้อมกับเหตุผลรองรับที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

วันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับเจ้าหน้าที่ตัวจริงผู้เป็นเจ้าของเหตุการณ์
และกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตัวละคร Hoot
ในหนังเรื่อง Black Hawk Down เจ้าของซีนอันโด่งดังนี้กันครับ

และชายผู้นั้นคือ " Norm Hooten " อดีต Delta Force 
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ Operation Gothic Serpent ครับ



" สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ มันเป็นการนำเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์
ที่เคยเกิดขึ้นจริงเข้ามารวมๆกัน " Hooten กล่าวไว้ ...

ย้อนกลับไปในตอนที่อยู่โมกาดิชู ในตอนนั้นเขาอยู่สังกัด
ของ Task Force Ranger และหน่วยของเขาจะต้องประสานงาน
ร่วมกับพวก Ranger ในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นว่าขั้นตอนปฏิบัติ
ของพวกเขาแตกต่างจากพวกเราเหลือเกิน ..  

" พวกเขาไม่ได้เข้าใกล้กับคำว่า รู้และเข้าใจถึง
หลักการปฏิบัติของการต่อสู้ระยะประชิด ( CQB ) เลย
สุดท้ายพวกเราก็ต้องมาฝึกทบทวน และก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน "

ซึ่งมันก็คือฉากสนามซ้อมยิงปืนในหนังตามภาพด้านล่างเลย



โดยสิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับทุกคนในคลาสเรียนนั้น 
นั่นคือความสำคัญของวินัยการใช้อาวุธปืน และเขาก็ทำนิ้วในท่าลั่นไก
แบบเดียวกับในหนัง และผมก็พูดกับทุกคนเอาไว้ว่า 

ฟังนะ ... มันคือสิ่งที่สำคัญมากๆที่จะต้องรู้ไว้กับการใช้อาวุธ
พวกคุณจะต้องปรับโหมดการยิงให้อยู่ในตำแหน่ง
ห้ามไก ( Safe ) เมื่อไม่ได้ทำการยิง

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือการเอานิ้วออกนอกโกร่งไกเสมอ
เพราะนิ้วคือระบบความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว
ที่เชื่อมต่ออยู่กับสมองของเรา
 
คราวนี้ ย้อนกลับไปในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโรงอาหาร
( ฉากที่เราเห็นในหนัง ) Capt.Steele เขาก็เดินมาหาผมจริงๆ
และก็ถามแบบนั้นจริงๆ เพียงแค่ว่าคำตอบที่ผมตอบเขา
มันแตกต่างจากนั้นค่อนข้างเยอะ



ก่อนอื่นเลย ขออธิบายแบบนี้ให้ผู้อ่านทุกท่านก่อนดีกว่า ..
ในขั้นตอนมาตรฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่อยู่ในฐาน
หรือตอนที่อยู่ในค่ายพัก ส่วนใหญ่มักจะทำการเก็บอาวุธ
ในลักษณะแบบ Condition ที่ 4 
( ไม่มีกระสุนในรังเพลิง ไม่มีการขึ้นลำ ไม่มีการบรรจุซองกระสุน )

คราวนี้พอมาพูดถึงฝั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษอย่างเช่น Delta Force
ซึ่งมักจะเก็บอาวุธแบบ Condition ที่ 3 อยู่ตลอดเวลา
( ไม่มีกระสุนในรังเพลิง ไม่มีการขึ้นลำ บรรจุซองกระสุนเอาไว้ )

คราวนี้ .. ก็ไม่รู้ว่าเป็นความสับสนหรือความไม่เข้าใจของฝั่ง Capt.Steele
ที่พอเห็นพวก Delta ถือปืนใส่ซองกระสุนเดินไปมา แถมปรับโหมด
ยังอยู่ในตำแหน่งพร้อมยิงในโหมด ( Semi ) จึงเข้าใจว่าฝั่ง Delta 
พกพาปืนอยู่ในสภาพที่พร้อมยิงอยู่ตลอดนั่นเอง



" ในตอนที่เราเคลียร์อาวุธปืนในขั้นตอนสุดท้าย เราขึ้นลำ
และเราก็จะทำการยิงทิ้ง 1 ครั้ง ให้ Hammer ของชุดลั่นไก
มันทำงาน จนเราได้ยินเสียง " คลิก ! " ถึงจุดนั้นก็คือปืน
ของเรามันไม่สามารถปรับเข้าไปในโหมด Safe ได้แล้ว

แม้ว่าเราจะต้องลุกขึ้นมากลางดึก มืดๆ หรือเจออะไรก็ตาม
ถ้าเกิดเราสามารถปรับโหมดไปที่ Safe ได้ ตัวเราก็ยังไม่ชัวร์
ว่าปืนของเรามันอยู่ในสถานะอะไรกันแน่ มีลูกกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่

แต่ถ้าเกิดทำแบบที่พวกผมทำตอนนี้ ในตอนที่เราตรวจสอบ
แล้วเห็นว่ามันปรับโหมดไปที่ Safe ไม่ได้ แค่นี้เราก็รู้ได้ง่ายๆละ
ว่าอาวุธปืนมันยังไม่ถูกขึ้นลำเอาไว้ ทางเดียวที่เราจะสามารถ
ปรับโหมดเป็นโหมด Safe ได้ ก็คือปืนมันถูกขึ้นลำแล้วนั่นแหละ "

Hooten กล่าวอธิบาย ....



คราวนี้ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ในโรงอาหาร .. ถึงแม้ว่า
จะเห็น Hoot หรือชุด Delta ถือปืนใส่ซองกระสุนเดินไปมาก็ตาม
แต่มันก็ไม่มีทางที่ปืนมันจะลั่น หรือ Discharge เองได้
เพราะปืนมันไม่ได้ทำการขึ้นลำเอาไว้นั่นเอง มันเป็นระบบเซฟตี้
อีกอย่างหนึ่งของอาวุธปืน ซึ่งมันถูกออกแบบเอาไว้อย่างนั้นตั้งแต่แรก

" คราวนี้พอ Capt.Steele เดินมาหาผมแล้วถามเรื่อง
วินัยการเก็บอาวุธของผม ตัวผมก็พยายามอธิบายให้เขาฟังนะ
แต่ดูเหมือนเขาจะไม่เข้าใจเลย " 
Hooten กล่าวถึงเหตุการณ์จริงในตอนนั้น

เอาเข้าจริงๆผมก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไรเขานะ
และดูแล้วเรื่องที่เขาพูดมันก็ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร
ดังนั้น Hooten จึงตอบ Capt.Steele ไปตรงๆว่า

" เฮ้ ! ผมเก็บอาวุธในแบบของผม มันปลอดภัยดีอยู่แล้ว .. 
คุณเป็นห่วงแค่อาวุธปืนของคุณ ผมก็ห่วงแค่อาวุธปืนของผม
ถือว่าเราเข้าใจตรงกันนะ " 




และพอถึงเวลาที่นำมาทำหนังจริงๆ ทางผู้สร้างก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยง
บทสนทนาที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากออก ประกอบกับหลายๆเหตุการณ์
ที่ได้รับฟังและนำมาปะติดปะต่อกัน จนกลายมาเป็นคำตอบสั้นๆ
อย่างเช่นที่เราเห็นกันในหนังนั่นแหละ

แต่ถามว่าลึกๆ Hooten อยากตอบแบบในหนังไหม ? ไม่อย่างแน่นอน 

" ถ้าเกิดว่าผมตอบแบบในหนังนั้นเปะๆ มันจะกลายเป็นว่า
ผมกำลังฉีกหน้าเขาต่อหน้าคนทั้งฐาน ผมเชื่อว่ามันจบไม่สวยแน่ๆ "

แต่เอาเข้าจริงๆหลังจากเหตุการณ์นั้น เราก็มีฝึกการใช้อาวุธกันเรื่อยๆ
และบรรดาพลทหาร หรือพวก Ranger ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นที่โรงอาหาร
เขาก็แวะมาดูการฝึกของเรา และสุดท้ายเขาก็เข้าใจหลักการและเหตุผล
ของเราเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย



" Norm Hooten " คือหนึ่่งในเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษใน

 Operation Gothic Serpent เขาและทีมได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจ
เขาทำภารกิจสำเร็จลุล่วง ก่อนที่ทุกอย่างเริ่มผิดพลาดตั้งแต่วินาที
ที่เครื่องบิน Black Hawk ลำนึงถูกยิงตก และจากภารกิจจู่โจมและจับกุม
ก็กลายเป็นภารกิจช่วยเหลือในเวลาต่อมา  ..

สมาชิกทีมครึ่งหนึ่งของเขาได้รับบาดเจ็บ และอีก 18 ชีวิต
ที่เป็นเพื่อนของเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับจากเหตุการณ์นั้น ...

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์หลังจากนั้นที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
สำหรับคนที่สนใจ โปรดติดตามตอนต่อไปได้เร็วๆนี้ครับ 

ที่มา : The true story behind 'this is my safety' from 'Black Hawk Down' (taskandpurpose.com)
ผู้แปล เรียบเรียง : Ronnakrit " Viking " Sripumma 
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Leave a comment

All comments are moderated before being published

Blog posts

View all