"Gun Truck" นวัตกรรมการคุ้มกันขบวนรถแบบ DIY โดยทหารแนวหน้าในสมัยสงครามเวียดนาม Valor Tactical

ในช่วงคุกกรุ่นของสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐได้เพิ่มทหารสหรัฐเข้าไปในเวียดนามใต้เป็นจำนวนมากตามมาตราการช่วยเหลือรัฐบาลเวียดนามใต้ในการสู้รบกับฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกง หน่วยทหารสหรัฐจำนวนมากได้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆของเวียดนามใต้ ซึ่งสิ่งที่ตามมานั้นคือความต้องการในเรื่องของเสบียงและการส่งกำลังบำรุงในจำนวนมหาศาล หน้าที่ดังกล่าวนั้นจึงตกไปเป็นของเหล่าขนส่งของกองทัพสหรัฐที่ต้องจัดการส่งความต้องการเหล่านั้นไปยังหน่วยทหารสหรัฐต่างๆในเวียดนามใต้ การใช้เครื่องบินขนส่งอย่าง C-47 หรือ C-130 สามารถทำได้แต่ก็ทำได้ในปริมาณที่น้อย แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในการขนส่งด้วยปริมาณที่มากภายในหนึ่งเที่ยวจึงตกเป็นหน้าที่ของขบวนรถบรรทุกนั่นเอง

ขบวนรถบรรทุกกองทัพบกสหรัฐในเวียดนามใต้ในช่วงแรกจะได้รับการคุ้มกันจากสห.กองทัพบกสหรัฐ

 

การใช้รถบรรทุกในการขนส่งสิ่งของต่างๆจากท่าเรือไปตามฐานต่างๆนั้นในหนึ่งขบวนรถจะประกอบไปด้วยรถบรรทุกตั้งแต่ 30 คัน ถึง 200 คันเลยทีเดียว ด้วยจำนวนดังกล่าวบวกกับการคุ้มกันที่ประปรายและไม่ทั่วถึงจากฝ่ายของสารวัตรทหารกองทัพสหรัฐจึงทำให้ขบวนรถบรรทุกทหารสหรัฐที่ยาวเหยียดตกเป็นเป้าอันแสนง่ายดายของฝ่ายเวียดกงที่ชื่นชอบในการใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจร ดั่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) เมื่อฝ่ายเวียดกงทำการซุ่มโจมตีขบวนรถของหน่วยขนส่งที่ 8 (8th Transportation Group) ขณะเดินทางจากเมืองเปลกูสู่เมืองอังเค การซุ่มโจมตีในครั้งนั้นทำให้ทหารสหรัฐเสียชีวิตถึง 7 นาย บาดเจ็บอีก 17 นายและสูญเสียรถบรรทุกมากถึง 30 คัน จากการโจมตีครั้งนั้นทำให้ทหารสหรัฐที่มีอายุเพียง 18-19 ในแนวหน้าต้องคิดมาตราการป้องกันขบวนรถเพื่อเพิ่มความอยู่รอดในสนามรบ แนวคิดดังกล่าวนั้นก็คือการติดอาวุธและเกราะป้องกันเพิ่มให้กับรถบรรทุก นิยามคำว่า “Gun Truck” (กัน ทรัค) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นนั่นเอง

ความเสียหายของยานพาหนะต่างๆ ของหน่วยขนส่งส่งที่ 8 จากการซุ่มโจมตีในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1967

 

ในช่วงแรกเริ่มของ Gun Truck ทหารสหรัฐได้นำรถบรรทุกขนาด 2½ ตัน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ M35 มาดัดแปลงโดยการนำกระสอบทรายมาเสริมรอบรถและนำปืนกลแบบ M60 อย่างน้อย 1-2 กระบอกมาติดไว้ แต่ไม่นานนักกระสอบทรายเหล่านั้นก็ถูกแทนที่ด้วยแผ่นเหล็กแทนเนื่องด้วยเมื่อเวลาฝนตก กระสอบทรายจะอุ้มน้ำทำให้น้ำหนักของรถเพิ่มขึ้นและทำให้รถเคลื่อนที่ได้ช้าลงซึ่งอาจทำให้รถตกเป็นเป้าของฝ่ายข้าศึกได้

Gun Truck นาม “Cold Sweat” ที่มีปืนกลหนัก M2 จำนวน 3 กระบอกและปืนกลมินิกัน XM134 อีกจำนวน 2 กระบอก

 

ในเวลาต่อมารถบรรทุก M35 ได้ถูกแทนที่ด้วยรถบรรทุกขนาด 5 ตัน (M54) ซึ่งมีขนาดใหญ่และพื้นที่มากขึ้นในการดัดแปลงต่างๆ ภายหลังเริ่มเข้าประจำการ รถบรรทุกขนาด 5 ตันก็เริ่มถูกนำไปดัดแปลงอย่างรวดเร็ว แผ่นเหล็กจำนวนมากถูกนำมาจากซากรถทหารที่ไม่สามารถใช้การได้และติดบริเวณรอบๆรถ ตามด้วยการพ่นสีรถให้เป็นสีดำพร้อมด้วยการเขียนชื่อและคำขวัญรอบคันรถ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึกและเพิ่มขวัญกำลังใจนั่นเอง นอกจากขนาดของรถ, เกราะป้องกันและสีที่ถูกเปลี่ยนแล้ว อาวุธต่างๆบนรถก็ถูกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ปืนกล M60 ถูกแทนที่ด้วยปืนที่มีขนาดใหญ่ เช่น ปืนกลหนักแบบ M2 (ปก.93), ปืนกลมินิกันแบบ XM-134 และปืนต่อสู้อากาศยานแบบ M45 (แท่นติดปืนกล M2 จำนวน 4 กระบอก) นอกจากนี้ยังมีการนำตัวรถของรถสายพานลำเลียงพลแบบ M113 ที่ชำรุดหรือตัดออกจากบัญชีมาติดที่ท้ายรถบรรทุกขนาด 5 ตันอีกด้วย

การติดอาวุธบนรถไม่มีหลักการตายตัว พลประจำรถมีอิสระที่จะแต่งสีเติมกลิ่นรถตามความต้องการของตัวเองหรือตามจำนวนอาวุธที่สามารถหามาได้

Gun Truck นาม “Uncle Meat” ที่มีปืนกลหนัก M2 ทางกราบซ้ายและกราบขวาอย่างละ 1 กระบอกและ M2 แท่นคู่ท้ายรถ

 

ที่ไปที่มาของอาวุธที่นำมาติดรถนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นตลกขบขันที่สามารถนำมาเล่าได้ยันรุ่นหลานเลยก็ว่าได้ อนึ่ง หน่วยขนส่งของกองทัพบกสหรัฐได้รับแจกเพียงแค่ M60 เท่านั้น ซึ่งนั่นไม่เพียงพอในทั้งระยะยิงและอำนาจการทะลุทะลวงเลยแต่อย่างใด ทหารในหน่วยขนส่งจึงต้องทำ “ทุกวิถีทาง” เพื่อที่จะมีอาวุธที่ได้ในทั้งเรื่องของระยะและอำนาจการยิงมาครอบครอง วิธีการต่างๆที่ทหารหน่วยขนส่งทำนั้นก็จะมีตั้งแต่ หาของมาแลก, ยืม(แล้วไม่คืน), ไปจนถึงขโมยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอะไรที่มีขนาดใหญ่กว่า M60 ก็สามารถอนุมานได้เลยว่าไม่ใช่ของหน่วยขนส่งแน่นอน

หากคุณมีโชคพอ คุณก็อาจพอที่จะได้ตัวรถ M113 มาเสริมรถ Gun Truck ของคุณ

 

ในช่วงที่ทหารสหรัฐเริ่มถอนตัวออกจากเวียดนาม รถ Gun Truck ต่างๆถูกคืนสภาพให้เป็นรถบรรทุกแบบเดิมและทยอยขนกลับสหรัฐอเมริกาแต่นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของตำนาน Gun Truck เลยซะทีเดียว หลักการของ “Gun Truck ถูกใช้อีกครั้งในสงครามอิรักเพื่อป้องกันขบวนรถขนเสบียงจากการดักซุ่มโจมตีของทหารอิรัก ในช่วงสงครามอิรัก รถบรรทุกหลากหลายแบบถูกแปรสภาพให้เป็น Gun Truck พร้อมอาวุธใหม่ที่เพิ่มอำนาจการทำลายล้างเพิ่มขึ้นเช่นเครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติ Mark 19 เป็นต้น สงครามอิรักอาจนับได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการใช้ Gun Truck ก็ว่าได้ ด้วยการมาของนวัตกรรมการป้องกันแบบใหม่เช่น รถหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและซุ่มโจมตี หรือ MRAP ทำให้ Gun Truck ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในสงครามยุคใหม่ในสายตาของกองทัพสหรัฐ

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all
Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review - Salomon XA Forces Mid GTX EN

Review รีวิวadmin admin
REVIEW: Magpul - MBUS Pro Sight

REVIEW: Magpul - MBUS Pro Sight

admin admin