ทำไมอุปกรณ์ทางทหารสีดำจึงเริ่มไม่เป็นที่นิยมในหมู่หน่วยทหารประเทศที่พัฒนาแล้ว Valor Tactical

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นยุคที่อุปกรณ์ของหน่วยรบพิเศษเช่นเสื้อเกราะ, ซองและหมวกต่างก็เป็นสีดำแต่เหตุใดสีที่ไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมใดๆเลยถึงได้กลายเป็นสีที่ได้รับความนิยมในหมู่หน่วยปฎิบัติการพิเศษ อนึ่ง เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของอุปกรณ์สีดำเหล่านี้กันเสียก่อน

                ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ตัวเลือกของอุปกรณ์ทางทหารต่างๆในสหรัฐนั้นยังไม่แพร่หลายเทียบเท่ากับในปัจจุบันที่ซึ่งมีผู้ผลิตเอกชนรายย่อยมากมายต่างจากในสมัยนั้นที่อุปกรณ์เหล่านี้จะมาจากการจัดซื้อกันระหว่างผู้ผลิตและรัฐ หากไม่ใช่สายโยงบ่า (All-purpose Lightweight Individual Carrying Equipment/ALICE) ก็คงจะไม่พ้นเวสคอเต่า (เวส PASGT) ซึ่งผู้ใช้อาจจะต้องเลือกระหว่างการได้รับการป้องกันที่ดีแต่เทอะทะกับความคล่องตัวแต่ไร้การป้องกัน ในหมู่ทหารเหล่ารบพิเศษจึงต้องมองหาตัวเลือกใหม่ๆที่ตรงตามความต้องการของตน การรอสัญญาว่าจ้างการผลิตใหม่จากรัฐอาจกินเวลานานตั้งแต่การออกแบบให้ตรงคุณลักษณะความต้องการไปจนถึงการเข้าสายการผลิต ทางเลือกหนึ่งที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือการมองหาตัวเลือกที่มีอยู่แล้วซึ่งก็คงจะไม่พ้นเสื้อเกราะของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง

จนท.หน่วยสวาทช่วงยุค 80

รูปแบบเสื้อเกราะของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นกล่าวได้ว่าตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องของความคล่องตัวและการป้องกันที่ดี หากแต่ตัวเลือกของสีนั้นมีเพียงแค่สีดำหรือสีกรมท่าเพียงเท่านั้น เนื่องด้วย ณ ตอนนั้นสีที่หน่วยสวาทตามรัฐต่างๆนิยมใช้กันนักมักจะมีแค่สีดำหรือสีกรมท่า (ในบางรัฐหน่วยสวาทมีการนำลายพรางเช่น ERDL หรือ Woodland มาใช้กับชุดเครื่องแบบด้วย.) อีกทั้งยุทธวิธีของหน่วยสวาทในสมัยนั้นจะเน้นการปฎิบัติงานในกลางคืนเป็นหลัก อีกเหตุผลที่ตัวเลือกของสีนั้นยังไม่มีให้เลือกมากนักก็อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการผลิตและจำนวนการผลิตต่อครั้ง เนื่องด้วยหน่วยรบพิเศษมีจำนวนคนที่น้อย การผลิตสีที่ตรงคุณลักษณะนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายอันไม่เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น

กำลังพลหน่วยเดลต้า ฟอร์ซช่วงปฏิบัติการในวิกฤตปานามา

ด้วยเหตุดังกล่าวเราจึงเห็นหน่วยรบพิเศษของกองทัพสหรัฐใช้เสื้อเกราะหรือเสื้อกั๊กที่เป็นสีดำเรื่อยมาตั้งแต่นั้นเอง ซึ่งอิทธิพลจากอุปกรณ์สีดำนั้นก็ยังมีเรื่องมาจนถึงปลายยุคทศวรรษที่ 1990 เลยทีเดียว ในช่วงเวลาระหว่างนั้นถึงแม้จะการผลิตมีเสื้อเกราะแบบใหม่อย่าง PTOA Class-III และ TP-1E ออกมาแต่ก็ยังคงไว่ซึ่งสีดำจนกระทั่งเริ่มต้นยุค 2000 ที่เสื้อเกราะแบบใหม่ของหน่วยรบพิเศษถูกผลิตขึ้นให้ออกมาเป็นสีเขียวไม่ว่าจะเป็น Olive Drab (เขียวกากี) หรือ Ranger Green เป็นต้น

ฉากการสู้รบในตรอกจากภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down

แต่อะไรทำให้บทบาทของสีดำเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง เหตุผลของการจากไปของสีดำบนอุปกรณ์ทางทหารของสหรัฐมีด้วยกันหลายปัจจัย อย่างแรกคือสีดำไม่ได้ให้การอำพรางที่ดีนักซึ่งสวนทางกับความต้องการของกองทัพสหรัฐที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการพรางตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศมากขึ้น อย่างที่สองคือเทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่าซึ่งสามารถได้มาซึ่งสีหรือลายพรางตามที่ต้องการได้ อีกหนึ่งปัจจัยนั้นก็คืออายุการใช้งานของสีดำนั้นสั้นกว่าสีอื่นๆ กล่าวคือสีดำนั้นมีแนวโน้มที่จะซีดเร็วกว่าสีอื่นๆและยังมีในกรณีที่เมื่อโดนแดดจัดบ่อยๆสีดำนั้นจะค่อยๆกลายเป็นสีม่วงออกด่างๆแทนซึ่งไม่เหมาะแก่การนำไปใช้งานต่อ ถึงกระไรนั้นหลายๆประเทศยังคงไว้ซึ่งสีดำอยู่ หากไม่นับในเรื่องของหลักนิยมแล้วอิทธิพลของอุปกรณ์สีดำก็คงจะหนีไม่พ้นอิทธิพลจากภาพยนตร์ต่างๆ ตัวอย่างที่เป็นประจักษ์มากที่สุดก็คงจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Black Hawk Down ที่ซึ่งเราจะได้เห็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษอย่างเดลต้า ฟอร์ซใส่เสื้อเกราะสีดำขณะทำการรบในพื้นที่สิ่งปลูกสร้างซึ่งเปรียบเสมือนกับมาตราฐานใหม่ของหน่วยรบพิเศษในสงครามยุคใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อได้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้วจะติดภาพจำนำมาใช้ในชีวิตจริงด้วย หากแต่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อปี 2536 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ฉะนั้นการนำแนวทางการแต่งกายเมื่อ 29 ปีที่แล้วมาปรับใช้ในปัจจุบันที่ซึ่งมีตัวเลือกเยอะกว่าในสมัยก่อนนั้นจึงอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาคิดพิจารณาอีกครั้ง

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่

Blog posts

View all