อันตราย .. ความเสี่ยง .. และความจำเป็นในการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ Valor Tactical
" การต่อสู้ในสนามรบ " คือหนึ่งในการเสี่ยงชีวิตที่ยิ่งใหญ่
และน่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ...


ภาพประกอบ : ภาพของทหารสหรัฐ 4% ที่รอดชีวิตจากชายหาด Omaha Beach 
ในการบุกขึ้นชายหาดรอบแรกของยุทธการนอร์มังดี 
เห็นได้ชัดจากสถิติไม่ว่าจะเป็น 96% ของชายชาติทหารอเมริกัน
ที่ต้องพลีชีพหรือบาดเจ็บในสมรภูมิที่ชายหาด Omaha
ในยุทธการนอร์มังดี วัน D-Day ที่เรียกได้ว่ามีการตาย
และบาดเจ็บกันแทบนับไม่ไหว ซึ่งยังไม่รวมกับอีก 4% ที่เหลือรอดชีวิต
แต่ก็ต้องพบกับความเจ็บปวดทางใจจนพบกับปัญหาสุขภาพจิตในภายหลัง
แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับบาดเจ็บทางกายในวันนั้นก็ตาม ...


ภาพประกอบ : หน่วยรบพิเศษ Green Berets กับการฝึกเอาตัวรอดในป่า

" การฝึกในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง " คือรูปแบบการฝึกอย่างหนึ่ง
ของกองทัพที่จะใช้หลักการจำลองสถานการณ์ / เหตุการณ์ / สถานที่
เพื่อสร้างความลำบากและความหนักหนาสาหัสต่อผู้เข้าทำการฝึก
ในสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญในแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกัน ..

แต่อะไรละ ? ที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดและตรวจสอบ ว่าการฝึกนั้นๆ
จะมีความเสี่ยงอยู่ในระดับไหน ? สิ่งที่ทางกองทัพทั่วโลกเลือกใช้
ในการกำหนดหลักเกณฑ์ของการฝึกว่าการฝึกนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหน
นั่นคือ  " เปอร์เซ็นของผู้บาดเจ็บที่รับได้ต่อ 1 การฝึก " นั่นเองครับ 

ในเรื่องของตัวเลขเปอร์เซ็นนั้น นับว่าเป็นหนึ่งในความลับที่แต่ละประเทศ
หรือในแต่ละหน่วยไม่ค่อยอยากเปิดเผยเป็นทางการเท่าไหร่นัก ...
แต่ในส่วนใหญ่แล้วในการฝึกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ
จะรับได้กับสถิติของ " 5% ของผู้บาดเจ็บต่อ 1 การฝึก " 
หรือแปลง่ายๆคือ " ใน 100 คน หากมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 5 คน 
นั่นถือเป็นเรื่องที่รับได้ " ซึ่งเอาเข้าจริงๆถือว่าเยอะมากนะครับ


แต่ถึงอย่างนั้น .. หน่วยรบระดับโหดหินสุดๆอย่างรัสเซีย 
ไม่ว่าจะเป็นการฝึก Spetsnaz หรือ KGB สถิติอาจจะพุ่งสูง
ในระดับ " 10% ของผู้บาดเจ็บต่อ 1 การฝึก " กันเลยทีเดียว 

ถึงจะดูเหมือนตัวเลขจะเยอะมาก จนดูผิดมนุษยธรรมไปเสียหน่อย
แต่ผมอยากจะให้ทุกท่านดูข้อมูลต่อจากนี้ดีๆนะครับ ...

ในช่วงปี 2006 - 2018 อ้างอิงจากข้อมูลของสภาคองเกรส ,
มากกว่า 31.9 % ของเจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ในสนามรบ
เสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆเช่นอุบัติเหตุ และ 16.3 % เสียชีวิตขณะสู้รบ ( K.I.A )



ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น 
ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่
เพื่อเตรียมตัวรับมือในสถานการณ์เสี่ยงที่มากกว่าการฝึกมากมายนัก
และช่วยลดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ในการสู้รับของสถานการณ์จริง

แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นดาบ 2 คม เช่นกัน ... 
ในการฝึกนี้ต่างแลกมาด้วยกับความเสี่ยงมากมาย จนในบางครั้ง
อาจนำพาซึ่งโศกนาฏกรรมที่มาจากการฝึก



ยกตัวอย่างเช่นอุบัติเหตุกับยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบก ( AAV )
ที่ทำให้สูญเสียเจ้าหน้าที่มากถึง 4 นาย ไปจนถึงอุบัติเหตุเครื่องบินตก
ที่คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษอย่างทีม Night Stalker ไปถึง 2 นาย
เมื่อวันที่ 27 สิงหาที่ผ่านมานี้เอง

ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ต่างเกิดขึ้นในศูนย์ฝึกที่เดียวกัน
นั่นคือชายฝั่งแคลิฟอเนียใกล้ๆกับโคโลราโด และนั่นก็คือ
อีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการฝึกสำหรับเจ้าหน้าที่
ปฏิบัติการพิเศษเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์จริงในอนาคต



ในการบรรจุเข้าสู่หน่วยรบพิเศษ Green Berets ของกองทัพสหรัฐ
ผู้เข้าทำการฝึกจะต้องผ่านหลักสูตรหินๆมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ
การฝึกหลักสูตรปฏิบัติการทางน้ำ ( Combat Diving ) 
และการฝึกกระโดดร่มแบบโดดสูงเปิดร่มต่ำ ( HALO ) ซึ่งก็ถือว่า
เป็นอีกหนึ่งการฝึกที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน 

แต่ที่เหนือยิ่งไปกว่านั้นอีก คือการฝึกร่วมกับเรือดำน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในภาคพื้นผิวน้ำไปจนถึงการฝึกขณะเรือดำน้ำอยู่ใต้ผิวน้ำ
ซึ่งมีเพียง 2 สถานที่เท่านั้นที่พวกเขาสามารถทำการฝึกในหัวข้อเหล่านี้ได้

หนึ่งในนั้นคือศูนย์ Key West ที่ฟลอริด้า กับ
ศูนย์ฝึกการปฏิบัติการทางน้ำที่โคโลราโด แคลิฟอเนีย
ซึ่งทั้งสองศูนย์ฝึกนี้จะมีสถานีจำลองการฝึกการเคลื่อนที่เข้า/ออก เรือดำน้ำ
ในสภาวะทั้งลอยเหนือผิวน้ำ และดำลงใต้ผิวน้ำนั่นเอง


ภาพประกอบ : ภาพจากด้านในสถานีฝึกเอาตัวรอดจาก Escape Tank บนเรือดำน้ำ
โดยในศูนย์ฝึก Key West นั้น จะมีโรงเรียนของหน่วยรบพิเศษโดยเฉพาะ
ที่มีการติดตั้ง Escape Tank โดยใช้การถอดออกมาจาก
เรือดำน้ำนิวเคลียร์จริงๆที่ปลดระวางแล้ว และเชื่อมต่อเข้ากับถังน้ำ
ขนาด 5,000 แกลลอน ในความลึกมากกว่า 33 ฟุต 

และในศูนย์ฝึกที่โคโลราโด ก็จะมีอุปกรณ์ฝึกในลักษณะเดียวกัน
ซึ่งจะถูกใช้สำหรับการฝึกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือ ( Navy Seals ) 

ซึ่งในการฝึกก็จะมีในเรื่องของหลักการพื้นฐานและขั้นตอนการปฏิบัติ
สำหรับเคลื่อนที่เข้า/ออกจากเรือดำน้ำ และมีการฝึกการเอาตัวรอด
ในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา โดยใช้การจำลองสภาพภูมิประเทศแบบสมจริง


ภาพประกอบ : การฝึกเอาตัวรอดจากเรือดำน้ำของนักเรียนในศูนย์ฝึก

ในสถานที่แห่งนั้นเอง ที่นักเรียนจะต้องรู้จักกับความกดดัน ความเครียด
และปัญหาที่จะต้องแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ
ผ่านความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำ
ความกดอากาศ แรงดัน และอื่นๆอีกมากมายเพื่อสร้างความกดดันให้แก่ผู้ฝึก

จากการฝึกอันหนักหนาสาหัสนั้นเอง ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ฝึก
ในการรับมือกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ อันตราย และเป็นการฝึก
เพื่อก้าวข้ามความหวาดกลัว รวมไปถึงการไว้ใจกันและทำงานร่วมกันเป็นทีม



ซึ่งจุดนั้นเอง คือสิ่งที่จะทำให้พวกเขาสามารถตั้งสติอยู่ได้
และนำพาตัวเองและทีมของตน เอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆในสนามรบ
ไปจนถึงสามารถปฏิบัติภารกิจที่ยากๆให้สำเร็จลุล่วงได้ สมกับการ
เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษระดับแนวหน้าของประเทศ

และนี่คือจุดประสงค์ของการที่เหล่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ
จะต้องทุ่มเท และกระโจนเข้าหาการฝึกที่มีความเสี่ยงสูงในทุกๆวัน

เพราะการสร้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษขึ้นมาซัก 1 คน .. มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ทาง Valor Tactical ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษทุกคนครับ

ชื่อบทความ " The Danger and Design of High Risk Training "
ที่มา https://sofrep.com/news/the-danger-and-design-of-high-risk-training/
เขียนโดย : George E.Hand IV เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563
แปลและเรียบเรียงโดย :  รณกฤต " VikinGz " ศรีพุมมา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563

ทิ้งข้อความไว้

ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่